กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--WWF-ประเทศไทย
เพียงเดือนเศษหลังจากการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในประเทศแห่งเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ นักอนุรักษ์ในเนปาลก็ประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการติดตามเสือดาวหิมะในเขตเทือกเขากันเจนชุงคาซึ่งสูงเป็นอันดับที่สองของโลก การประกาศความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและความหวังในภาวะที่ประเทศกำลังฟื้นตัว และยังเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของวันสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย
เสือดาวหิมะเพศผู้โตเต็มวัย อายุประมาณ 5 ปี และหนักประมาณ 41 กิโลกรัม ตัวนี้ ถูกจับใกล้ๆหมู่บ้านยังม่าในเขตอนุรักษ์กันเจนชุงคา และมีการติดตั้งปลอกคอดาวเทียมจีพีเอส และปล่อยกลับเข้าสู่ป่าในอาทิตย์ที่ผ่าน ข้อมูลที่ได้จากปลอกคอนี้จะทำให้นักอนุรักษ์สามารถระบุถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตราย รวมถึงจุดข้ามแดนไปอินเดีย และจีน
นายทิคา รัม อัดฮิคาริ ผู้อำนวยการทั่วไปของกรมอุทยานและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าประเทศเนปาล กล่าวว่า “เนปาลภูมิใจที่ได้เป็นประเทศแนวหน้าที่มีความพยายามในการทำความเข้าใจสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ ปลอกคอชิ้นแรกถูกติดตั้งในปี 2013และความสามารถของเราในการตอกย้ำความสำเร็จในการติดตั้งปลอกคอในภาวะวิกฤตของประเทศถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความรับผิดชอบต่อพันธสัญญาในการอนุรักษ์ของรัฐบาลและคนเนปาลทั้งประเทศ”
ความสำเร็จอันยอดเยี่ยมนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเนปาล, WWF, National Trust for Nature Conservation (NTNC),โครงการเขตอนุรักษ์กันเจนชุงคา, สภาจัดการพื้นที่อนุรักษ์กันเจนชุงคา และนักวิทยาศาสตร์พลเมืองจากคณะกรรมการอนุรักษ์เสือดาวหิมะ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พลเมืองเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการระบุพื้นที่ที่มีเสือดาวหิมะ และช่วยในเรื่องการจัดการต่างๆ ในเขตพื้นที่อนุรักษ์
“ในฐานะองค์กรอนุรักษ์ที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ WWF มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเนปาลในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทำให้เรารู้จักและเข้าใจเสือ ดาวหิมะได้ดีขึ้น” นายอานิล มานันธาร์ ตัวแทน WWFประเทศเนปาลกล่าว “เรายังได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนจากชุมชนในเขตกันเจนชุงคา หนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนและเข้าถึงได้ยากที่สุดในประเทศเนปาล การช่วยเหลือและรักษาพันธุ์เสือดาวหิมะและชนิดพันธุ์อันงดงามอื่นๆ อาจสูญหายไปอย่างง่ายดายหากไม่ได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือจากพวกเขา โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังยิ่งในการแสดงถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้ หากแค่เราร่วมมือกัน”
โครงการอนุรักษ์เสือดาวหิมะในเขตอนุรักษ์กันเจนชุงคาที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนั้นประกอบด้วยการเฝ้าสังเกตผ่านกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera traps) และการสำรวจจำนวนเหยื่อของเสือดาวหิมะโดยได้รับความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นและคณะกรรมการอนุรักษ์พันธ์เสือดาวหิมะ การศึกษาพันธุศาสตร์ประชากรจากการตรวจดีเอ็นเอจากมูลเสือดาวหิมะ รวมถึงแผนการประกันภัยปศุสัตว์เพื่อการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และเสือดาวหิมะ
และจากข้อมูลประชากรชนิดพันธุ์ปี 2552 ระบุว่ามีเสือดาวหิมะอยู่ประมาณ 350-390 ตัวในประเทศเนปาล