เดินหน้าศักยภาพข้าวเหนียวไทยรักษาแชมป์ตลาดโลก สศท.1 ร่วมเครือข่ายปฏิรูปการผลิต

ข่าวทั่วไป Tuesday June 9, 2015 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ร่วมเดินหน้าปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย ยืนหยัดประเทศที่ส่งออกข้าวเหนียวมากเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลกก่อนเข้าสู่เออีซี ลุยเวทีชุมชน จัดอบรม Smart Farmer เพื่อการผลิตข้าวเหนียว สู่การผลิตที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และคงระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทย นับเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเหนียวมากเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลก เพราะเมล็ดข้าวที่เรียวยาวสวย รสชาติดี มีความเหนียว หอมนุ่มมากกว่าข้าวเหนียวจากแหล่งอื่น ซึ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว มาตรการทางภาษีถูกขจัดออกไป ข้าวเหนียวของไทยจะมีผลกระทบทั้งการส่งออก และการไหลเข้ามาของข้าวเหนียวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ชาวนาไทย ลดต้นทุนการผลิต รักษาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาองค์ความรู้ผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพสูงไปพร้อมกับการเก็บรักษาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเหนียวไทยที่หลากหลาย รวมไปถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อยกระดับข้าวไทยและชาวนาไทยให้ทันสมัย ในยุคที่โลกเปิดเสรีทางการค้าและการแข่งขันสูง สำหรับต้นทุนการผลิตต่อไร่ในการทำนาข้าวเหนียวของไทย พบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งนาในเขตพื้นที่ชลประทานมีต้นทุน 5,698 บาท/ไร่ ส่วนในเขตนาน้ำฝนต้นทุน 4,591 บาทต่อไร่ อีกทั้งชาวนายังขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการผลิต จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ชาวนา รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบการผลิตและการค้า พัฒนาศักยภาพชาวนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ร่วมกันดำเนิน “โครงการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย” ขึ้น เพื่อให้ชาวนาผลิตข้าวเหนียวคุณภาพสูง โดยการหันมาทำนาธรรมชาติ ผลิตข้าวดี ปลอดภัย เลิกการใช้สารเคมี ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวนา รวมทั้งรักษาดูแลระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าว มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น โดยจัดอบรมให้ความรู้ชาวนาในการทำนาธรรมชาติ เลิกใช้สารเคมี ซึ่งแต่ละจังหวัดจะเลือกพื้นที่ละ 2 อำเภอ สำหรับเชียงใหม่ ได้นำร่องในพื้นที่ อ.สันกำแพง และ อ.หางดง มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดย สศท.1 จะร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียว (ระดับจังหวัด) พร้อมติดตามและรายงานผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการด้วย ซึ่งการกำหนดแผนงานระยะแรกนั้น จะจัดเวทีชุมชนในโครงการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ พร้อมกับเปิดรับสมัครเกษตรกรที่ทำนาเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรม Smart Farmer หลักสูตรการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการผลิตข้าวเหนียว ซึ่งมีเกษตรกรได้เข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จาก 2 อำเภอ ในพื้นที่ อ.สันป่าตอง และ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ อำเภอละ 40 คน ทั้งนี้ จากความร่วมมือของทุกหน่วย ในการการขับเคลื่อนโครงการฯ จะสร้างความเข้าใจพร้อมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรในการลดการใช้สารเคมี และเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยน เพื่อพัฒนาการผลิตให้มีศักยภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ร่วมกันต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ