กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
ปัจจุบันทุกวงการต่างให้ความสำคัญกับการสร้าง “คลื่นลูกใหม่” ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาช่วยกันพัฒนาวงการวิชาชีพให้เจริญรุดหน้า วงการสัตวแพทย์ก็เช่นกันมีการจับมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนก่อตั้งโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ “โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน” เพื่อเป็นเวทีกลางในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างว่าที่สัตวแพทย์รุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้มาอยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งเชิงวิชาการและวัฒนธรรม ก่อเกิดสัมพันธภาพที่ดีอันนำไปสู่การร่วมมือกันพัฒนาวิชาชีพในอนาคต
นายเอนก บุญหนุน รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุน “โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน ประจำปี 2558” ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ด้วยเล็งเห็นว่าการสร้างบุคลากรในวงการสัตวแพทยศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงจัดโครงการขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้เข้ามาเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์จากการฝึกปฏิบัติงานจริงโดยบริษัทได้สนับสนุนทั้งเงินทุน และการถ่ายทอดองค์ความรู้โดยพาคณะนักศึกษาในโครงการฯ เข้าศึกษาดูงานด้านอาหารปลอดภัยจากทั้งโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟ ล่าสุดคณะนักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการผลิตของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ตามมาตรฐานสากล ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างทักษะ ก่อเกิดความรู้ความเข้าใจ และมีประสบการณ์ที่สามารถต่อยอดสู่อาชีพสัตวแพทย์ในอนาคต
“โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ๆ เพราะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มองเห็นกระบวนการทำงานที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อเป็นข้อมูลและทางเลือกในการตัดสินใจประกอบอาชีพในอนาคตทั้งในส่วนของภาคราชการหรือเอกชน นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจการดำเนินธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ควบคู่กับการช่วยเหลือตอบแทนกลับคืนสู่สังคม จึงได้รับคำชื่นชมจากประเทศต่าง ๆ วันนี้อาจารย์ในต่างประเทศติดต่อส่งนิสิต สัตวแพทย์จากประเทศต่าง ๆ อาทิ ลาว พม่า มาร่วมงานกับซีพีเอฟ เพราะรู้สึกประทับใจหลังจากเข้าร่วมโครงการซึ่งจะทำให้ซีพีเอฟจะได้บุคคลากรชั้นเยี่ยมมาประจำในแต่ละประเทศ” นายเอนกกล่าว
ผศ.น.สพ.ดร. ธนู ภิญโญภูมิมินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะประธานโครงการฯ ว่า การร่วมมือกับซีพีเอฟด้วยเล็งเห็นว่าบริษัทเป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่นานาประเทศให้การยอมรับ จึงหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับการเป็นผู้นำศักยภาพสาขาวิชาชีพสัตวแพทย์ และพัฒนาบุคลากรและนิสิต ช่วยขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทยสู่อาเซียน รวมทั้งสร้างโอกาสให้นิสิตมีส่วนในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนให้เข้มแข็งไปพร้อมกัน ซึ่งนิสิตสัตวแพทย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาชีพในความเหมือนหรือต่างของแต่ละประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงาน เพราะเขาเหล่านั้นจะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน ติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กัน แนะนำเพื่อน ๆ ให้รู้จักกันและร่วมกันพัฒนาวิชาชีพของพวกเขา นอกจากนี้ยังเน้นการปลูกฝังเรื่องการทำประโยชน์ให้กับสังคม นอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบด้านสัตวแพทย์
ทางด้านวิชาการนักศึกษาที่ร่วมโครงการยังได้ฟังบรรยายความรู้ทางวิชาการ และบรรยายพิเศษ อาทิ เรื่อง Food Animal Production, Mini-Study : Back Yard Food Animal Rearing ฯลฯ ได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาวัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, เยี่ยมชมโครงการเพื่อสังคมของซีพีเอฟ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”, ศึกษาดูงานกระบวนการผลิตด้านอาหารปลอดภัยที่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากซีพีเอฟ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และบุคลากร ที่มีความชำนาญด้านต่างๆทุกสาขาวิชาทางสุขภาพทั้งมนุษย์และสัตว์ในทุกระดับ ทั้งในระดับประเทศหรือในระดับโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและสมดุลสำหรับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ก้องภพ ฟองศรัณย์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมโครงการนี้ ผมเรียนสัตวแพทย์เกี่ยวกับสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ และสัตว์ป่า โดยตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบจะทำงานเกี่ยวกับสัตว์ใหญ่ โครงการนี้ทำให้มีโอกาสดูกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารที่มีมาตรฐานสากลของซีพี ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของประเทศไทยที่ส่งอาหารไปทั่วโลก ยังทำให้ได้รู้จักเพื่อนต่างชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน เพราะคิดว่าในอนาคตจะได้เจอกันอีกจากการประชุมนานาชาติต่าง ๆ เพราะคนทำงานในวงการนี้มีไม่มาก นอกจากนี้พวกเรายังได้ทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน อาทิ การฉีดวัคซีนให้วัว สุนัขตามวัด นอกจากนี้ยังประทับใจซีพีเอฟเนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ยังคงมองเห็นความต้องการ ความเดือดร้อนของชุมชนจึงเข้ามาช่วย นำความรู้มาช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นน้องนักเรียนมีอาหารที่มีประโยชน์ได้รับประทาน อยากให้มีโครงการนี้อย่างต่อเพราะนอกจากจะได้ความรู้จากค่ายนี้แล้วยังได้เพื่อนอีกด้วย
“รู้สึกดีใจมากที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศอินโดนีเซียให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการฯ นี้ โดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบรู้จักกับเพื่อนต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะชอบการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับวิชาชีพในวงการสัตวแพทย์ของพวกเรา การมาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้มากมาย มีเพื่อนใหม่ที่หวังว่าจะได้ร่วมมือกันในอนาคต ได้เรียนรู้มาตรฐานการทำงานจากซีพีเอฟซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ผลิตอาหารรายใหญ่ ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งใจที่จะกลับไปช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่ยากจนในชนบท เพราะประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาฉันต้องการนำความรู้กลับไปพัฒนาให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น” ซาบีน่า ไฮซยา นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Bogor Agricultural ประเทศอินโดนีเซีย กล่าว
โครงการสัตวแพทย์อาสาอาเซียน ประจำปี 2558 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม-13 มิถุนายน นี้ โดยมีนิสิตสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 4 – 6 ทั้งจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ บราซิล และไทย รวมกว่า 50 คน ที่จะเข้าฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฏี ได้แก่ ด้านสุขภาพสัตว์ การดูแล การป้องกัน เน้น One Health Program ด้านอาหารแก่มนุษย์ และด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคปฏิบัติ นักศึกษาจะได้เข้าฝึกงาน ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเข้าศึกษาดูงานกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับซีพีเอฟ โครงการนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกันสร้างเครือข่ายของคลื่นลูกใหม่ในวงการสัตวแพทย์ในอาเซียนให้เกิดความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่มากขึ้น