กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สศช.
นายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดสัมมนาระดับนานาชาติ เรื่อง "Thailand's Southern Seaboard : A New Gateway to the Global Economy" ในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2541 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินกรุงเทพมหานคร
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญตามนโยบายของรัฐบาลทุกชุดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการเปิดประตูเศรษฐกกิจใหม่ของประเทศไทยเข้าสู่โครงข่ายการค้าโลก โดยการสร้างสะพานเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก ถนน รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งจะสามารถเชื่อมระหว่างพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามันกับพื้นที่ทางฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกและกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันนี้จะเป็นแกนนำการพัฒนาที่สำคัญในการกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนอื่นสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ในการนี้ สศช. ได้รับงบประมาณและได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากหน่วยงานเพื่อการค้าและพัฒนาในรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (United State Trade and Develoment Agency : USTDA) วงเงินรวมประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือท้ายเหมือง (ฝั่งอันดามัน) และเขตอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ และ 2) ท่าเรือสิชล (ฝั่งอ่าวไทย) และเขตอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ-โดยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา Moffatt & Nichol Intenational, Inc. (สหรัฐอเมริกา) Asian Engineering Consultants Corp.,Lt. (และ) Wilbur Smith Associates, Inc. (สหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540
สำหรับในส่วนของโครงการพัฒนากิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันนั้น การปิโตร-เลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ให้บริษัทที่ปรึกษาทำการพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมัน และโครงการโรงกลั่นน้ำมันอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับที่ตั้งท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้การศึกษาทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และโครงการพัฒนากิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น สศช. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนารระดับนานาชาติครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและศักยภาพการลงทุนในโครงการทั้ง 2 ดังกล่าว และระดมความคิดเห็น /ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อนำมาปรับใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินโครงการของรัฐ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการเหล่านี้ต่อสาธารณชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดำเนินโครงการที่จะบังเกิดผลดีแก่ส่วนรวมของประเทศชาติต่อไป
สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาจะมีจำนวนประมาณ 300 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศและระหว่างประเทศ ทูตตานุทูต หอการค้า องค์การระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน--จบ--