กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเดินหน้าโครงการ“สร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป” ผ่านผลงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มาต่อยอดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รุกสร้างมูลค่าเพิ่ม เจาะตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาทิ กลุ่มอาหารชีวจิต อาหารออร์แกนิก ตลอดจนอาหารสุขภาพเฉพาะกลุ่ม อาทิ อาหารสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ อาหารลดไขมัน ผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูง เป็นต้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในประเทศมีมูลค่าตลาดกว่า 7.93 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 55.53 ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกว่า 9.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบจากปีก่อนโดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ อาเซียนคิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็น ญี่ปุ่นและจีน คิดเป็นร้อยละ 12.9และ 12 ตามลำดับ ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ ผู้ประกอบการจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65และมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ด้านมูลค่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และคาดว่าภายในปี 2558 ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 14
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. เดินหน้าโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปโดยเน้นการนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหาร ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าอาหาร (Value Food Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จากหน่วยงานต่างๆ มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์โดยการเลือกใช้วัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตรผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหาร อาทิ ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม เนื้อสัตว์ และอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าว อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ การพัฒนาให้มีคุณค่า อาหารมีความปลอดภัย การยืดอายุผลิตภัณฑ์ รูปแบบ รสชาติ ฯลฯ ตลอดจนสามารถจัดทำเป็นต้นแบบสินค้าใหม่ให้มีความแตกต่างในตลาด ซึ่งคาดว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ ผู้ประกอบการจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65และมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ด้านมูลค่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10ทั้งนี้ ตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อาทิอาหารชีวจิต อาหารอินทรีย์หรืออาหารออร์แกนิกอาหารที่ปลอดสารพิษ อาหารสุขภาพเฉพาะกลุ่ม อาทิ อาหารสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ อาหารลดไขมัน ผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูงฯลฯ
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศในกลุ่ม อาเซียน และอาเซียน + 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) มีจำนวนผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงทำให้กระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์มีแนวโน้มขยายตัว ดังจะเห็นได้จากร้านค้าปลีกวางจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูงจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs หรือ OTOP จะผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้เพื่อการขยายตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ หรืออาหารที่ทำจากสมุนไพรเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน(Niche Market)อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป นับเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากโดยในประเทศปี 2557 มีการบริโภคอาหารแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการผลิต ด้วยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ ด้านทรัพยากรบุคคลในสายวิชาการและแรงงานที่มีฝีมือ ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งผลให้ไทยมีศักยภาพส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารต่อปีได้ปริมาณมาก
ทั้งนี้ ปี 2557 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 9.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบจากปีก่อน สำหรับตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อาเซียน คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็น ญี่ปุ่นและจีน คิดเป็นร้อยละ 12.9 และ12 ตามลำดับ ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าราว1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยในส่วนของสถานการณ์ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในประเทศมีมูลค่าตลาดราว 7.93 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.53 ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั้งหมด และคาดว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 14 ภายในปี 2558 (ข้อมูล : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร 2557) นายอาทิตย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr