กรุงเทพ--12 เม.ย.--ปตท.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อเขต 5 (ปท.5) ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมการรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติฯ ดูแลและบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซฯ ด้านตะวันตกของประเทศให้มีเสถียรภาพและมีความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากลรวมทั้งป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินของระบบท่อ โดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติที่ทำงานผ่านระบบสื่อสารเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง และระบบดาวเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมบนพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซฯ ตามมาตรฐานการบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซฯ ด้วย
สำหรับระบบขนส่งก๊าซฯ ทางท่อเส้นแรกในด้านตะวันตกที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ นี้คือ ระบบท่อส่งก๊าซฯ จากสหภาพพม่า ซึ่งสามารถขนส่งก๊าซฯ ได้ในปริมาณสูงสุดถึงวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยตลอดแนวท่อมีสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาณก๊าซฯ 12 แห่ง และแต่ละแห่งจะมีอุปกรณ์ควบคุมการส่งก๊าซฯ ที่สามารถสั่งการด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติจากศูนย์ 2 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อเขต 5 และศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของระบบท่อได้สูงสุด
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แถลงหลังพิธีเปิดว่า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงปิโตรเลียมชนิดอื่นที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งแนวโน้มทั่วโลกต่างมุ่งเปลี่ยนมาใช้ก๊าซฯ มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยนับว่าโชคดี ที่มีก๊าซฯ ทั้งในอ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ความต้องการของเขายังไม่สูงนัก ประเทศไทยจึงขอซื้อมาใช้ โดยได้ราคาที่สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นได้ (เมื่อคำนวณเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า) และให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงที่ตกลงซื้อก๊าซฯ จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมาก แต่ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลง กีาซฯ จากสหภาพพม่าก็ยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยเพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้ก๊าซฯ ในภาคขนส่ง และเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ และที่สำคัญเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตใกล้นี้ เนื่องจากการพัฒนาพลังงานปิโตรเลียม เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา 3-5 ปี เป็นอย่างต่ำ
สำหรับการรับก๊าซฯ ของการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากแหล่งยาดานา คาดว่าจะเริ่มเป็นไปตามแผนประมาณกลางปีนี้เป็นต้นไป โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีหน่วยพลังงานความร้อนร่วมหน่วยแรกขนาดกำลังผลิต 200 เมกกะวัตต์ จะเริ่มเดินเครื่องได้ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ และจะทยอยแล้วเสร็จจนครบ 6 หน่วย ประมาณกลางปีหน้า โดยจะใช้ก๊าซฯ รวมทั้งหมดประมาณ 525 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน--จบ--