กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ใน สปป.ลาว ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์(COD) จากหน่วยการผลิตที่ 1 ผ่านสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) แล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน2558 ตรงตามกำหนดเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฝผ. นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของโครงการ
ความสำเร็จดังกล่าวยังเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว เป็นระยะเวลา 25 ปี (พ.ศ. 2559 - 2584) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินจากการทำเหมืองในพื้นที่โครงการเป็นเชื้อเพลิง ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 626 เมกกะวัตต์ มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกกะวัตต์ ใช้งบประมาณลงทุนในโครงการรวม3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้หน่วยการผลิตที่ 2 มีกำหนดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์(COD) ใน เดือนพฤศจิกายน 2558 และหน่วยการผลิตที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2559 ตามลำดับ
บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว มีผู้ถือหุ้น 3 รายคือ 1) บริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือหุ้น 40 % 2) บริษัท บ้านปูพาวเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40 % และ 3) รัฐวิสาหกิจผู้ถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นนิติบุคคลของรัฐบาลลาว ถือหุ้น 20 %
นอกจากนี้ รัฐบาล แห่ง สปป. ลาว ยังมุ่งหวังให้โรงไฟฟ้าหงสา เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับของชุมชน ดังนั้นการดำเนินงานของบริษัทฯ นอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าผ่ายผลิตของไทย และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ยังมีพันธกิจที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนควบคู่กันเรื่อยมา ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2553 และไปตลอดจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน