กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์-
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โชว์นวัตกรรมต้นแบบ“ระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้” มุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยด้วยการแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรไม่ได้คุณภาพ โดยประยุกต์เทคนิคทางด้านไมโครเวฟในการตรวจวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน
ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยปริมาณการส่งออกกว่า 3.7 ล้านกิโลกรัมในปีที่ผ่านมา สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยอาศัยหลักการทำงานการส่งผ่านคลื่นไมโครเวฟที่ถูกออกแบบให้มีความถี่เฉพาะที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ตรวจสอบทุเรียน โดยข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งผ่านเครื่องส่ง-รับสัญญาณ (Transmitter – Receiver) และ USB Port ไปประมวลผล (Data Processing) ที่คอมพิวเตอร์ และทำการแสดงผล (Display) บนหน้าจอได้อย่างแม่นยำ ลดปัญหาสินค้าส่งออกโดนตีกลับจากการปะปนทุเรียนอ่อนไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ตลอดจนทัศนคติที่ไม่ดีต่อการส่งออกผลไม้ของประเทศไทย ทั้งนี้ ในอนาคตตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมนี้เพื่อให้สามารถตรวจวัดผลไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นได้ อาทิ มังคุด มะม่วง ลิ้นจี่ และเงาะ ซึ่งมียอดส่งออกรวมกันกว่า 3.7 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สจล. ก็ยังมีการพัฒนาโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอย่างหลากหลาย ภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” ที่จะสามารถพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ในอนาคต อาทิ การพัฒนาเรือสะเทินน้ำสะเทินบกอเนกประสงค์เพื่อการเกษตร การป้องกันการรบกวนของแมลงในสวนปลูกผักด้วยการใช้เทคนิคการรบกวนแบบหุ่นไล่กาปล่อยคลื่นความถี่ เป็นต้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างยั่งยืนในอนาคตสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.thศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “เซ็นเซอร์ไมโครเวฟเพื่อการเกษตร” ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยที่นำรายได้เข้าประเทศหลายพันล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูก และผู้ส่งออกของไทยได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2557 ประเทศไทยมีสถิติการส่งออกผลไม้กว่า 1.4 ล้านเมตริกตันหรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง ลิ้นจี่ และเงาะ ได้รับความนิยมสูง อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางสภาพดินฟ้าอากาศที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถเพาะปลูกผลไม้ชนิดนั้นๆ ได้ หรือสามารถผลิตได้แต่อยู่ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ประกอบกับเทรนด์
รักสุขภาพของคนในปัจจุบัน จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศไทยมียอดปริมาณการส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาไปอย่างไรก็ตาม ผลไม้ส่งออกของประเทศไทยมักประสบปัญหาในกระบวนการผลิต และการส่งออกหลายประการ เช่น ปัญหาด้านภาษี ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้า ปัญหาการแข่งขัน ปัญหาด้านสุขอนามัย และปัญหาการขนส่ง ตลอดจนปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน โดยวิกฤตการณ์ภัยแล้งในปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดปัญหาปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงสินค้าไม่ได้คุณภาพทั้งในแง่ของขนาด และรูปทรง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกปรับตัวลดลงไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ในขณะที่ผลไม้ส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทยอย่างทุเรียน ก็มีปัญหาโดนตีกลับสินค้าจากการส่งออกตลาดจีน เนื่องจากที่มีการปะปนทุเรียนอ่อนไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ตลอดจนทัศนคติที่ไม่ดีต่อการส่งออกผลไม้ของประเทศไทย ดังนั้น สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ตระหนักถึงการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญจึงได้สร้างสรรค์งานวิจัย “ระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้” เพื่อช่วยลดปัญหาสินค้าส่งออกไม่ได้คุณภาพ โดยเบื้องต้นได้ทำการทดสอบกับทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญที่นำเงินตราเข้าประเทศกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ด้วยปริมาณกว่า 3.7 ล้านกิโลกรัม ในปีที่ผ่านมาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม หนึ่งในทีมงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ ได้อธิบายหลักการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้งานเป็นต้นแบบในการวัดความอ่อน-แก่ของทุเรียน โดยมีหลักการทำงานดังต่อไปนี้“ระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์ตรวจสอบความอ่อน-แก่ของผลไม้” พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคนิคทางด้านไมโครเวฟในการตรวจสอบ โดยมีขั้นตอนเริ่มต้นจากการวางวัสดุที่จะใช้ทดสอบ (Material Under Test: MUT) หรือทุเรียนเอาไว้บนแท่นวัด (Measurement Platform) จากนั้นสายอากาศส่ง (Tx. Antenna) จะส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนไปยังสายอากาศรับ (Rx. Antenna) โดยขณะที่
คลื่นไมโครเวฟผ่านทุเรียนนั้น ขนาดของสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะถูกลดทอนลง (Magnitude Attenuated) แปรผันไปตามความอ่อนหรือแก่ของผลทุเรียน จากนั้นข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งผ่านเครื่องส่ง-รับสัญญาณ (Transmitter – Receiver) และ USB Portไปประมวลผล (Data Processing) ที่คอมพิวเตอร์ และทำการแสดงผล (Display) บนหน้าจอ ทั้งนี้ สัญญาณไมโครเวฟนั้นสร้างขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีวิทยุที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software - Defined Radio: SDR)ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สจล. เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรคุณภาพในสาขาที่ขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีพันธกิจในการพัฒนาประเทศชาติ และตอบแทนสังคมมาอย่างยาวนาน ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ผ่านการพัฒนาโครงการวิจัย และสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” จึงได้มีโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอย่างหลากหลาย ที่จะสามารถพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ในอนาคต อาทิ การพัฒนาเรือสะเทินน้ำสะเทินบกอเนกประสงค์เพื่อการเกษตร การเพิ่มมูลค่ากากรำข้าวด้วยการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเสริมแร่ธาตุผงในแคปซูลเข้มข้นจากธรรมชาติ การป้องกันการรบกวนของแมลงในสวนปลูกผักด้วยการใช้เทคนิคการรบกวนแบบหุ่นไล่กาปล่อยคลื่นความถี่ การวิจัยการผลิตและการตลาดข้าวอินทรีย์ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น สจล. ก็ยังมุ่งผลักดันให้เกิดการบูรณาการงานวิจัยระหว่างคณะต่างๆ ในสถาบัน โดยล่าสุดได้มีการพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อช่วยผู้ประสบภัยชาวเนปาล ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 คณะ ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันในการเป็น 1 ใน 10 สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของภูมิภาคอาเซียน ในปี พ.ศ.2563สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th