กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่จะเปิดช่องให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือรัฐมนตรีได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นการกระทำผิดทางการเมือง ซึ่งในสายตาของประชาชนมองว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี จึงไม่ควรให้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศได้อีก หากเอาเข้ามาทำงานอาจจะกระทำผิดอีกก็ได้ ขณะที่ ร้อยละ 44.04 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม บางครั้งคนเรามีผิดพลาดกันได้ ควรให้โอกาสได้เข้ามาทำงานและแสดงความสามารถ ร้อยละ 0.40 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ต้องพิจารณาว่าเป็นการถูกถอดถอนด้วยเรื่องใด ร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ร้ายแรงก็ควรให้โอกาสกลับเข้ามาทำงาน บางคนสามารถปรับปรุง แก้ไขตนเองได้ และร้อยละ 5.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่จะเปิดช่องให้มีการทำประชามติ ในประเด็นอื่นด้วย โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1 คำถาม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.38 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างโปร่งใส เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย ซึ่งมีหลากหลายมุมมองและความคิด เพื่อพิจารณาและลงมติให้เป็นที่เอกฉันท์ ถือเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ อีกทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและได้รับทราบว่าส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไร รองลงมา ร้อยละ 13.91 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว ยิ่งมากประเด็น มากคน หลายฝ่าย ก็ยิ่งมากความคิด ประเด็นที่เป็นปัญหาคงไม่สามารถยุติลงได้ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นคำถามด้วย และร้อยละ 10.63 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลังจากลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 พร้อมให้ ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คนขึ้นมาแทน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.44 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะการปฏิรูปต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้า อีกทั้งการปฏิรูปต้องใช้ระยะเวลา หากมีจำนวนสมาชิกจำนวนมากก็จะสามารถบริหารงานได้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน รองลงมา ร้อยละ 28.94 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการเสียเวลามาก สมาชิกสภาปฏิรูปแบบเดิมก็สามารถทำงานและบริหารงานได้ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 0.32 ระบุว่า เฉย ๆ ยังไงก็ได้ เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ แต่บทบาทและหน้าที่คงเหมือนเดิม ควรมีทั้ง 2 องค์กรทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และแต่ละฝ่ายควรมีจำนวนอย่างละเท่า ๆ กัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน และร้อยละ 20.30 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 15.83 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.83 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.94 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.25 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.15 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 55.08 เป็นเพศชาย ร้อยละ 44.84 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 11.03 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.31 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 25.50 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.97 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 9.99 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 94.40 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.84 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.64 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 24.06 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 72.42 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.30 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 31.65 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.91 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 26.22 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 4.40 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.95 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 12.15 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 22.94 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 15.67 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 17.11 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 13.67 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 4.48 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.59 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 19.66 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 31.49 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 11.43 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 5.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 9.59 ไม่ระบุรายได้