กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 11/2558 : ความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาฯ, กรณีทรูมูฟไม่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมาย, ผลหารือกรมสรรพากรเรื่องการชำระภาษีจากการให้บริการหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด, ความคืบหน้าการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz, วาระร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายสวย, รายงานผลปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนและรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาต
วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 11/2558 วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2558 มีหลายประเด็นที่น่าจับตา ดังนี้
วาระรายงานความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz (มาตรการเยียวยา)
วาระรายงานความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการเยียวยา มีเรื่องที่น่าจับตาหลายประเด็น ทั้งเรื่องปมปัญหาที่ก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โอนย้ายเลขหมายโดยไม่ถูกต้อง เรื่องการกำหนดขั้นตอนการขอเงินคืนของผู้ใช้บริการในกรณีที่ไม่ได้โอนย้ายออกจากระบบเมื่อประกาศมาตรการเยียวยาสิ้นสุด ซึ่งก็จะครบกำหนดในวันที่ 17 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ รวมทั้งเรื่องการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายที่เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือน
ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาการโอนย้ายเลขหมายโดยไม่ถูกต้องนั้น สตง. ตรวจสอบพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการโอนย้ายผู้ใช้บริการจากบริษัทในเครือที่ให้บริการ 2G ไปยัง 3G โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนาขอโอนย้ายตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 12 มีนาคม 2558 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงกลับภายใน 60 วัน ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ทำเรื่องขอผัดผ่อนการชี้แจงออกไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ด้านการกำกับดูแลได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งานซิมการ์ดของผู้ใช้บริการ แล้วพบว่าซิมทรูมูฟที่มีการใช้งานอยู่นั้น ถูกผู้ให้บริการโอนย้ายไปยังเครือข่าย 3G ของเครือข่ายผู้ให้บริการเดียวกันโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้ร้องขอ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดประกาศเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับเรื่องของการกำหนดขั้นตอนการขอเงินคืนของผู้ใช้บริการภายหลังจากมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นแผนที่ผู้ให้บริการเสนอผ่านสำนักงาน กสทช. ให้ กทค. พิจารณา ก็นับเป็นประเด็นที่น่าห่วงไม่ใช่น้อยว่าผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบถึงกว่า 700,000 เลขหมาย มีเงินคงค้างกว่า 20 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน แต่ทางบริษัท ทรู มูฟ จำกัด แจ้งว่าไม่สามารถแจ้งยอดเงินสุดท้ายของเงินคงค้าง ณ เวลา 23.59.59 ของคืนวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ให้กับผู้ใช้บริการทราบได้ ดังนั้นผู้ใช้บริการอาจไม่ทราบยอดเงินคงเหลือของตนและขาดข้อมูลที่สำคัญในการขอรับเงินคืนจากผู้ให้บริการได้ ไม่เพียงแค่นั้น แผนการดำเนินงานของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ยังกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาในการขอรับเงินคืน คือตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2558 ทั้งที่ข้อกฎหมายเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมกำหนดว่า ให้ผู้บริการมีหน้าที่คืนเงินแก่ผู้ใช้บริการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเลิกสัญญา โดยไม่ได้กำหนดเวลาว่าผู้ใช้บริการต้องขอคืนเงินภายในระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขด้วยการจำกัดเวลาเช่นนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคเกินไป
ที่แย่ไปกว่านั้นคือในส่วนของวิธีการคืนเงิน บริษัท ทรู มูฟ จำกัด กำหนดจะคืนเงินด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินธนาคารจำนวน 35 บาท ที่จะให้เป็นภาระของผู้ใช้บริการ โดยจะหักเงินจากยอดคงเหลือก่อนการโอนเข้าบัญชีผู้ใช้บริการ มาตรการนี้ก็ดูจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ควรจะเป็นสิทธิที่ผู้ใช้บริการได้เลือกตามความประสงค์ว่าจะขอคืนเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร และต้องไม่มีภาระค่าใช้จ่ายด้วย
ส่วนประเด็นการประชาสัมพันธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายหนึ่งเดือนที่เหลืออยู่นี้ ก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะร่วมมือกันให้ข้อมูลผู้บริโภคถึงหน้าที่และสิทธิต่างๆ โดยหากยังต้องการใช้เลขหมายเดิม ก็ต้องโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นๆ หรือหากไม่ต้องการใช้เลขหมายนั้นอีกต่อไป ก็มีสิทธิที่จะขอรับเงินที่เป็นยอดคงเหลือในระบบคืนตามวิธีการที่แสดงความประสงค์ไว้ได้
วาระกรณีบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ไม่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการให้บริการในช่วงประกาศเยียวยา
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอที่ประชุม กทค. เพื่อขอรับแนวทางดำเนินการกรณีที่บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ไม่ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 โดยเหตุผลที่บริษัท ทรู มูฟ จำกัด อ้างในการไม่ชำระ คือในช่วงประกาศเยียวยานั้น บริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับจัดสรรเลขหมายทั่วไปตามประกาศ กทช เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 12/2557 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ได้เคยมีมติมาแล้วว่าไม่เห็นชอบกับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเลขหมายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้เป็นผู้รับการจัดสรรทั่วไป แต่ประกาศมาตรการเยียวยาก็กำหนดไว้ชัดเจนว่าบริษัทสามารถหักต้นทุนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมออกจากรายได้จากการให้บริการ ก่อนที่จะนำรายได้นั้นส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจสอบและนำส่งเป็นรายได้แผ่นต่อไป ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลที่บริษัทจะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมาย ทว่าสิ่งที่น่าคิดต่อไปก็คือ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ค้างชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายมากว่า 1 ปีแล้ว บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นหรือค่าปรับตามกฎหมายด้วยหรือไม่ และหากบริษัทยืนกรานไม่ชำระ การเรียกร้องสิทธิใดๆ ของสำนักงาน กสทช. ให้บริษัทชำระค่าธรรมเนียม ก็ต้องระวังไม่ให้หนี้ขาดอายุความด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด
วาระผลหารือกรมสรรพากรเรื่องการชำระภาษีจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด
สำหรับประเด็นที่ว่าการประกอบกิจการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ในช่วงของการให้บริการภายใต้มาตรการเยียวยา มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นใดด้วยหรือไม่ เนื่องจากหากเป็นการประกอบการในภาวะปกติ ผู้ให้บริการมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ใช้บริการ และเมื่อผู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่สำนักงาน กสทช. ตามกฎหมาย เช่นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต สำนักงาน กสทช. ก็มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการเพื่อนำส่งรัฐต่อไป แต่ในกรณีนี้ที่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กำหนดให้ผู้ให้บริการเสมือนหนึ่งเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ จึงเกิดโจทย์ว่าในเรื่องการชำระภาษีควรต้องดำเนินการเช่นไร
เรื่องนี้ทางสำนักงาน กสทช. ได้หารือไปยังกรมสรรพากร ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาแล้วว่า ในการประกอบกิจการของทั้งสองบริษัทเข้าข่ายการให้บริการ ดังนั้นต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าว และนำรายได้ที่ได้รับมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายประมวลรัษฎากรด้วย ส่วนกรณีบริษัทนำส่งรายได้ที่ได้รับจากการดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไปนั้น ไม่เข้าข่ายเป็นการขายสินค้า สำนักงาน กสทช. จึงไม่มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท
วาระความคืบหน้าการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอวาระการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ให้ที่ประชุม กทค. พิจารณา หลังจากการเตรียมการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ล้วนเป็นการดำเนินการโดยสำนักงาน กสทช. ทั้งสิ้น ไม่ว่าการขออนุมัติจัดประมูลคลื่นความถี่จากรัฐบาล การตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ การทาบทามสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ให้ทบทวนการกำหนดประมูลคลื่นคลื่นและราคาเริ่มต้นการประมูลใหม่ เป็นต้น
สำหรับเนื้อหาวาระในการประชุมหนนี้เป็นเพียงรายงานความคืบหน้าการดำเนินการที่ผ่านมาของสำนักงาน และกรอบระยะเวลาในการเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งกำหนดว่าจะสามารถปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์การจัดประมูลคลื่นทั้งสองย่านความถี่แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม จะเป็นกระบวนการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของที่ประชุม กทค. และ กสทช. ก่อนที่จะนำไปทยอยจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูล และจัดประมูลคลื่นความถี่ต่อไป โดยในส่วนของคลื่น 1800 MHz ได้กำหนดวันจัดประมูลไว้แล้วคือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ส่วนคลื่น 900 MHz กำหนดวันจัดประมูลคือวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ซึ่งตามกรอบเวลาดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ทันการณ์สำหรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของบริษัทเอไอเอส อันนำไปสู่ประเด็นปัญหาต่อเนื่องว่าจะต้องมีการใช้มาตรการเยียวยากับผู้ใช้บริการระบบ 2G ของบริษัทเอไอเอสด้วยใช่หรือไม่
วาระร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายสวย
วาระคราวนี้เป็นการเสนอร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเลขหมายสวย (ร่างหลักเกณฑ์จัดประมูลเลขหมายสวย) ฉบับปรับปรุงภายหลังการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ทุกฝ่ายจะเห็นสอดคล้องตรงกันในหลักการใหญ่ตั้งแต่ก่อนนำร่างประกาศไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะว่าวิธีการจัดสรรเลขหมายสวยควรทำด้วยวิธีการประมูล แต่ก็มีบางประเด็นที่เป็นประเด็นถกเถียง โดยเฉพาะเรื่องการนำเลขหมายไปเปิดบริการ ซึ่งร่างประกาศที่นำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องเปิดใช้บริการกับผู้ให้บริการที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการกำหนดดังกล่าวเป็นการมัดมือชกผู้ชนะการประมูลในกรณีที่หากไม่ประสงค์ใช้บริการกับผู้ให้บริการรายนั้น เนื่องจากต้องมีพันธะผูกพันกับผู้ให้บริการที่ตนไม่ต้องการ และอาจเกิดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการใช้สิทธิโอนย้ายในภายหลัง เช่น ปัญหาเรื่องภาระหนี้สินคงค้าง หรือเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการมักนำมาอ้างว่าต้องใช้บริการในเครือข่ายครบ 90 วันก่อน จึงจะสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายหรือโอนย้ายได้
ทั้งนี้ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก็มีผู้บริโภคแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า หากผู้บริโภคต้องเสียเงินประมูลเลขหมายมาในราคาแพง ก็ไม่น่าต้องมีภาระมาเดินเรื่องขอโอนย้ายในภายหลัง แต่ควรสามารถเลือกผู้ให้บริการได้ทันที ซึ่งนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ออกโรงรับปากกลางเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้วว่าจะนำความเห็นดังกล่าวไปแก้ไขหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชนะการประมูลในการเปิดใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศที่สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงก็มิได้แก้ไขในประเด็นนี้ ซึ่งก็คงถึงคราวบอร์ด กทค. ว่าจะรับฟังเสียงสะท้อนผู้บริโภคจากเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วยหรือไม่
วาระเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการที่ให้บริการระบบติดตามเรือและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครื่องบินโดยสาร
ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2558 นี้ มีการเสนอเรื่องเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตของผู้ประกอบการที่ให้บริการระบบติดตามเรือและผู้ประกอบการที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครื่องบินโดยสารจำนวนหลายวาระด้วยกัน ซึ่งประเด็นของเรื่องก็คือ กิจการลักษณะดังกล่าวเป็นกิจการที่ต้องมีการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมสื่อสารต่างชาติ ซึ่งมีปัญหาติดขัดที่ข้อกฎหมายในปัจจุบันที่กำหนดเงื่อนไขว่าการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมจะต้องเช่าใช้ช่องสัญญาณวงจรดาวเทียมไทยและดาวเทียม ASEAN เท่านั้น แต่หากประสงค์จะเช่าใช้ช่องสัญญาณวงจรดาวเทียมต่างชาติอื่นเพื่อการให้บริการ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลโดยกระทรวงไอซีที ทำให้เมื่อมีผู้ประกอบกิจการขอรับใบอนุญาตเข้ามา กทค. ก็ไม่สามารถพิจารณาให้ใบอนุญาตได้จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงไอซีที โดยที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้เคยหารือข้อจำกัดในเรื่องนี้ไปยังกระทรวงไอซีทีหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติเสียที
แม้กระทั่งว่าล่าสุดที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือประมงและเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสส์ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ หากทว่าในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการระบบติดตามเรือ รวมไปถึงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครื่องบินโดยสารก็ยังมีข้อติดขัดที่รอกระทรวงไอซีทีอนุญาตเสียก่อน
กรณีการไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในเรื่องการใช้ดาวเทียมต่างชาตินี้ นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นการสูญเสียโอกาสที่การประกอบธุรกิจใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศจะก่อเกิดขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กติการเก่าที่เป็นข้อจำกัดควรได้รับการปรับแก้
วาระรายงานผลปฏิบัติงานในการแก้ไขเรื่องร้องเรียน และรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาต
สำนักงาน กสทช. รายงานการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่ไม่ซับซ้อนและเป็นเรื่องที่ที่ประชุม กทค. ได้เคยวินิจฉัยเป็นแนวทางไว้แล้ว ว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. พิจารณาเสร็จสิ้น โดยแจ้งผลให้ผู้ร้องเรียนและบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการทราบแล้วทั้งสิ้น 7 เรื่อง พบว่าทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดค่าบริการประเภทเสียงตามโปรโมชั่นเกิน 99 สตางค์ต่อนาที ซึ่งขัดกับประกาศ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นสำหรับผู้ใช้บริการแบบระบบเติมเงินที่คิดค่าโทรนาทีแรกเกิน 99 สตางค์ หรือโปรโมชั่นแบบชำระค่าบริการรายเดือนที่เมื่อโทรเกินโปรโมชั่น จะถูกคิดค่าบริการเกินนาทีละ 99 สตางค์ ซึ่งการคิดค่าบริการที่ผิดกฎหมายลักษณะดังกล่าวเป็นปัญหาร้องเรียนซ้ำๆ ที่สำนักงาน กสทช. ได้รับมาโดยตลอด แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาในภาพรวมทั้งระบบ ยังคงพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นรายกรณีให้กับผู้ร้องเรียนเท่านั้น
ส่วนรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของฝั่งผู้รับใบอนุญาต ซึ่งประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนทุก 6 เดือนนั้น ผลสรุปจากรายงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รายงานมาจำนวน 23 ราย มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 25,890 เรื่อง ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตจัดทำรายงานมาจำนวน 20 ราย มีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 28,167 ราย ข้อน่าสังเกตก็คือในปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตรายงานผลการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรีย