กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--TCELS
“พิเชฐ” เล็งใช้ National Science Academy ต่อยอดสร้างเครือข่ายวิจัย ช่วยชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน เสนอเดินสายตามโรงเรียนสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาตร์ ชวนเอกชนปรับโฉมนิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมนวัตกรรม เชื่ออินโนเวชั่นเป็นตัวขับเคลื่อนโลกอนาคต
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า การประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเวทีที่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์ได้มาหารือกัน ซึ่งขณะนี้เชื่อว่ากุญแจสำคัญของการพัฒนาคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นทุก ภาคส่วนในสังคมไทย สอดคล้องกับเป้าหมายของหลายประเทศที่มีแผนการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่รัฐบาลถือเป็นนโยบายหลักในการปฏิรูปประเทศ
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ ทั่วโลกยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีผลกระทบมากกับแรงงานในอนาคต ขณะนี้หลายประเทศปรับเปลี่ยนกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสเปลี่ยนกฎหมาย โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ประเทศสิงคโปร์ให้ทุนพร้อมสิทธิประโยชน์หลายประการกับนักวิจัย ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนกฎหมายให้นักเรียนต่างชาติที่จบการศึกษาในสหรัฐอเมริกา สามารถทำงานต่อได้อีกปีครึ่ง เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการแย่งชิงกำลังคนที่มีคุณภาพ ที่มีความสามารถ ประเทศไทยเองก็ต้องระวัง
รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ เราจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนในสามประเด็น คือ ประการแรกต้องช่วยกันสร้างความหวังให้เยาวชนไทย ต้องสร้างแม่พิมพ์ให้เยาวชนอยากเลียนแบบ อาจใช้กลไกของสร้าง National Science Academy ซึ่งสมาชิกจะร่วมกันสร้างเครือข่ายวิจัยที่สามารถตอบสนองต่อในสถานการณ์ฉุกเฉิน และในยามวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อร่วมกันใช้ความเชี่ยวชาญมาเสนอทิศทางที่ประเทศควรจะเดินต่อไป และจะร่วมกันเดินสายตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ว่าการเรียนและการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ดีอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อประเทศชาติ
ประการที่สอง คือต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งของกลไกให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับผู้นำท้องถิ่นทั่วประเทศ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จับมือกับกระทรวงมหาดไทย สร้างกลไกที่ปรึกษาประจำจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด การมีคณะที่ปรึกษาประจำจังหวัดจะช่วยให้ผู้นำท้องถิ่นได้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา
ประการสุดท้าย ต้องทำให้แหล่งจ้างงานโดยเฉพาะในภาคเอกชนเป็นที่รู้จักในหมู่เยาวชน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการประสานกับภาคเอกชนให้สร้างศูนย์วิจัย รวมถึงการสนับสนุนการปรับโฉมนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นนิคมนวัตกรรม ให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ที่เชื่อมโยงกับกระบวนการผลิต หากแหล่งจ้างงานชัดเจน จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความฝันที่จะเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ดร.พิเชฐ กล่าวด้วยว่า สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลักดันกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวสู่อุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง แข่งขันได้กับนานาประเทศ