กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
นอกจาก“เมืองน่าน”เป็น“เมืองแห่งต้นน้ำ”แล้ว ยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวที่สืบทอดกันมายาวนาน ที่เป็น “เสน่ห์” ให้ทุกคนมาเยือนเมืองน่านเกิดความประทับใจอีกด้วย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เยาวชนรุ่นใหม่มีน้อยคนนักที่จะสืบสานการแสดงพื้นบ้านนี้เอาไว้ จนผู้ใหญ่เกิดความวิตกกังวลว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเลือนหายไป
แต่ที่ ต.พระพุทธบาท อ.เชียงกลาง จ.น่าน ยังมีกลุ่มเยาวชนที่ใช้ชื่อกลุ่มว่านาฏยเภรี สะหลีเชียงกลาง นำโดยนายธรรมราช อินทำ ริเริ่มทำ โครงการ “สืบสานตำนานศิลป์ถิ่นเมืองน่าน” ตอนการสืบค้นและถ่ายทอดประวัติและการแสดงฟ้อนดาบฟ้อนเจิงฉบับเมืองน่าน ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมกับเพื่อนๆ น้องๆ อาทิ นายณัฐพล สนธิโพธิ์ นายณัฐพงษ์ ยะปัญญา นายศักดิ์ใหญ่ สลีอ่อน และนางสาวณัฐกฤตา มูลอำมาตย์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบค้นและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและลักษณะการแสดงฟ้อนดาบฟ้อนเจิงรวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงฟ้อนดาบฟ้อนเจิงฉบับเมืองน่านและเพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ฉบับเมืองน่านให้กับเยาวชนในตำบลพระพุทธบาทได้เรียนรู้และสืบทอดการแสดงพื้นบ้านนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป โดยมี พระพีรพัฒน์ วชิรญาโณ เจ้าอาวาสวัดน้ำคา เป็นผู้ริเริ่มและชักชวนเยาวชนให้มาร่วมกัน
สถานการณ์ชุมชนที่รุนแรงที่การตีกลองปูจาหายไปจากชุมชนไม่ต่ำกว่า 10 ปี เวลามีงานเข้าพรรษา ทุกวันโกนต้องไปจ้างคนข้างนอกมาตี และเยาวชนเริ่มในชุมชนไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านพระพีรพัฒน์ วชิรญาโณ จึงคิดหาทางแก้ไขเพราะคิดว่านี้เป็นอีกหน้าทีหนึ่งของตนเอง
“ก่อนที่อาตมาจะมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ มีปัญหาเยาวชนมั่วสุมที่วัดจนเกิดความรำคาญใจในชุมชนและเจ้าอาวาสองค์เดิม จึงได้ลงมติให้ออกกฎให้เยาวชนอยู่วัดได้แค่หกโมงเย็นเท่านั้น หลังจากอาตมา มาอยู่เล็งเห็นว่าเยาวชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน ในปลายปี 2556 จึงคิดหาวิธีดึงเยาวชนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย จึงไปทาบทาม ทีม (นายธรรมราช อินทำ) ซึ่งดูเป็นเด็กหัวแก๊งค์ในหมู่บ้านมาทำความเข้าใจแนวความคิดในรวมกลุ่มเยาวชนและการสืบทอดการแสดงพื้นบ้านของเราไว้ เพราะมองเห็นว่าเด็กคนนี้เป็นคนรักวัฒนธรรม ภายใต้โครงการฯ นี้ ทีมจึงให้ไปชวนเพื่อนมาบางคนฝืนใจ บางคนตามเพื่อนมา มาเรียนเรื่องวัฒนธรรมของชุมชน ตอนแรกรวมตัวประมาณ 20 คน มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ตอนนี้มี 50 คนแล้ว อ.เชียงกลางมี 11 ตำบล ตอนนี้เด็กๆ เขาสามารถดึงน้องๆ มาได้เกือบครึ่งอำเภอแล้ว ได้เชิญพ่อครูเมืองดี เทพประสิทธิ์ ศิลปินอาวุโสของจังหวัดน่าน และนายคมสันต์ ขันทะสอน โรงเรียนปัว มาสอนการแสดงแล้วแต่ความชอบของเด็ก เช่น กระบอง ตีฆ้อง ฟ้อน พอต่างคนต่างเรียนที่ตัวเองชอบได้แล้วก็อยากไปเรียนอย่างอื่นต่อไป แล้วเขาก็มาแลกเปลี่ยนสอนกันเองด้วย เพื่อนๆ เห็นเด็กกลุ่มนี้แสดงก็บอกว่าเจ๋งอยากแสดงเป็นบ้าง แต่ละท่าการแสดงเป็นของน่านจริงๆ ซึ่งหายากแล้ว”
“การเปลี่ยนแปลงเยาวชนทำให้เยาวชนแกนนำมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเพราะระยะหลังๆ ครู กับพระอาจาย์ไม่ค่อยได้ลงไปดูพี่ๆ แกนนำก็จะดูแลและสอนน้องๆ กันเอง จากเด็กที่ไม่มีอะไรทำ มาทำประโยชน์ทำให้ผู้ปกครอง ชุมชน ส่งเสริมภาพของวัดเปลี่ยนไปที่เมื่อก่อนชุมชนมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเยาวชนก็หายไป ปัจจุบันชุมชนให้การสนับสนุน เห็นดีด้วยกับการทำกิจกรรมของเยาวชน และภาคภูมิใจที่เด็กๆ เป็นตัวแทนชุมชนไปทำชื่อเสียงให้ ได้รับความไว้วางใจจากชุมชน เด็กๆ มาสะท้อนว่าพ่อแม่หายห่วงเมื่อก่อนคิดว่ามาวัดมามั่วสุมแต่พอเห็นว่าได้แสดงที่วัดเป็นครั้งแรกก็ชื่นชมและก็สนับสนุน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ก็เห็นก็มาสอนให้ว่าบางท่ายังไม่ถูกต้อง พอไปแสดงที่ไหนก็ตามไปดู” พระพีรพัฒน์ วชิรญาโณ กล่าวทิ้งท้าย
นายธรรมราช อินทำ หรือ ทีม แกนนำเยาวชนผู้ก่อตั้งได้เผยถึงความในใจว่า “สิ่งที่เราทำนี้ไม่ได้บังคับใคร ที่ผมทำมีแรงผลักดันเพราะตัวเองเป็นคนก่อตั้งมา ถ้าหยุดไปไม่มีใครมาต่อก็จะหายไปเลย ตอนนี้เราสร้างเพจเฟสบุ๊คให้กลุ่มเราเป็นที่รู้จักเวลามีงานแสดงก็อัพลง เมื่อก่อนผู้ใหญ่มองว่าเด็กๆ มามั่วสุมกันแต่ตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือผู้ใหญ่บอกว่าดี ถ้าหมู่บ้านไหนไม่มีคนตีกลองปูจาก็จะหายไปเลย นอกจากตีกลองที่หมู่บ้านเรา เวลามีงานเข้าพรรษา ทุกวันโกนพวกเราก็ไปช่วยหมู่บ้านอื่นอีกด้วย รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ผมทำและพยายามฝึกฝนถ่ายทอดให้รุ่นน้องนำไปเผยแพร่ต่อไป การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองถ้าไม่มีใครทำก็สูญหายไป ตอนนี้พวกเราเป็นเยาวชนกลุ่มเดียวของอ.เชียงกลางที่เป็นตัวแทนไปแสดงในที่ต่างๆ”
กลุ่มนาฏยเภรี สะหลีเชียงกลาง จากเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มองเห็นคุณค่าของการแสดงพื้นบ้านของตนเอง จนกระทั่งกลายเป็นตัวแทนของอ.เชียงกลางเพื่อไปแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คนต่างพื้นที่ได้ชมความสวยงาม กลุ่มยังได้ขยายการสอนออกไปที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาและโรงเรียนเชียงกลาง การแสดงแบ่งเป็นผู้ชาย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนกระบอง ฟ้อนดาบไฟ แมงโต นกยูง ส่วนผู้หญิง ฟ้อนร่องน่าน ฟ้อนมงเซิง ฟ้อนขันดอก และฟ้องผางประทีป เพราะการ “กระตุ้น” จาก “ผู้ใหญ่” ที่ไม่ทอดทิ้งเยาวชน และ มีเยาวชนที่มองเห็นคุณค่าในตนเองและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันเรียนรู้และสืบทอดสิ่งดีงามของชุมชน หากมีเยาวชนแบบนี้ในทุกหมู่บ้านเชื่อมั่นว่าประเทศไทยไม่ขาดคนสานต่อแน่นอน