กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต
วันนี้ (11 มิ.ย.58) ที่ รร.ปรินซ์พาเลซ กทม. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิด “การสัมมนาเพื่อพัฒนาเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชนในระบบสุขภาพระดับอำเภอ ชุมชนห่วงใยดูแลด้วยใจ ไม่ทอดทิ้งกัน” ว่า กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System: DHS) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการยึดประเด็นสุขภาพที่มาจากความต้องการ และสภาพบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ ด้วยการวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงประเด็นสุขภาพจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพสำคัญนั้นๆ แล้วดำเนินงานควบคู่กันไป ตอบสนองนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เน้นไปที่การดำเนินงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ยึดความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยมีระบบสุขภาพระดับอำเภอ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร ทั้งกาย จิต และสังคม ครอบคลุมทุกมิติในทุกกลุ่มวัย ตอบสนองตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ประชาชนและชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ทอดทิ้งกัน นำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยและเพิ่มความแข็งแรงให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การชี้ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพกายและจิตว่าเป็นเรื่องเดียวกัน มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นฐานคิดสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบ และเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนที่สามารถตอบโจทย์ทั้งกายและจิตไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตในชุมชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับประชาชน รวมถึงดูแลช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตและศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 - 13 ของกรมสุขภาพจิต
จากการดำเนินงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เกิดเครือข่ายในระบบสุขภาพระดับอำเภอที่ร่วมดำเนินงานสุขภาพจิต จำนวนทั้งสิ้น 563 แห่งทั่วประเทศ (528 อำเภอ และ 35 ชุมชนในพื้นที่ กทม.) จากเดิม 187 แห่ง (176 อำเภอ และ 11 ชุมชนในพื้นที่ กทม. ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เข้าร่วมมากที่สุดเท่ากับ 185 แห่ง รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ 138 แห่ง ภาคกลาง 113 แห่ง ภาคใต้ 92 แห่ง และชุมชนใน กทม.จำนวน 35 แห่ง โดย เครือข่ายในระบบสุขภาพระดับอำเภอจะมีความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของงานสุขภาพจิต สามารถเชื่อมโยงงานสุขภาพจิตเข้ากับระบบสุขภาพระดับอำเภอได้ นำไปสู่การทำงานอย่างบูรณาการครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตในเนื้อเดียวกัน รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า “การสัมมนาเพื่อพัฒนาเครือข่ายสุขภาพจิตชุมชนในระบบสุขภาพระดับอำเภอ ชุมชนห่วงใยดูแลด้วยใจ ไม่ทอดทิ้งกัน” กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11 – 12 มิ.ย. 2558 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. เพื่อให้ตัวแทนเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอที่มีกระบวนการดำเนินงานที่โดดเด่น ในแต่ละเขตพื้นที่บริการ ทั้ง 12 เขตรวมทั้งตัวแทนชุมชนจาก กทม. มาร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงาน วิธีการบูรณาการงานสุขภาพจิตเข้ากับระบบสุขภาพระดับอำเภอ สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาและเป็นต้นแบบในการดำเนินงานให้กับเครือข่ายในระบบสุขภาพระดับอำเภอ อีกทั้งเป็นการพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตต่อไป
ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การบูรณาการงานสุขภาพจิตเข้ากับระบบสุขภาพอำเภอนั้น เริ่มจากการคัดเลือกอำเภอในส่วนภูมิภาค และชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมจากพื้นที่ทีมีความสมัครใจ และมีความพร้อม ภายหลังจากเข้าร่วมดำเนินงานแล้วนั้น เครือข่ายในระบบสุขภาพระดับอำเภอ/ชุมชนกรุงเทพมหานคร ในแต่ละแห่งจะได้วิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพในพื้นที่ของตนก่อนจะกำหนดเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในอำเภอ/เขต โดยศูนย์สุขภาพจิตจะเป็นตัวแทนของกรมสุขภาพจิตในการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในระดับอำเภอได้ร่วมวิเคราะห์และเชื่อมโยงประเด็นสุขภาพที่สำคัญนี้เข้ากับประเด็นสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง และเมื่อแต่ละพื้นที่ได้ประเด็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญตามบริบทของพื้นที่แล้ว ก็จะนำไปสู่การออกแบบการดำเนินงานทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้สอดคล้องกับประเด็นสุขภาพสำคัญที่กำหนดต่อไป
ประเด็นสุขภาพที่หลายพื้นที่มองว่าเป็นปัญหาและเลือกมาเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญในการดำเนินงานร่วมกัน ในปี 2558 มีมากถึง 570 ประเด็น ประเด็นเกี่ยวกับวัยสูงอายุและผู้พิการมีจำนวนสูงสุดถึง 286 เรื่อง ประเด็นสำคัญได้แก่ การดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน รองลงมา ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับวัยรุ่นและวัยทำงาน จำนวน 72 เรื่องเท่ากัน ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การดูแลสุขภาพจิตในสถานประกอบการ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ประเด็นการดูแลในกลุ่มเด็กปฐมวัยและวัยเรียน มีจำนวน 68 เรื่อง ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก รวมถึงการส่งเสริม IQ และ EQ ในเด็ก ประเด็นเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 57 เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุราและยาเสพติด จำนวน 15 เรื่อง ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กล่าว