ผู้ละเมิดติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องพีซีเพื่อขายสารภาพผิด ผู้บริหารหนีคดี

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 16, 1998 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ธ.ค.--ไมโครซอฟท์
พนักงานขายเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท เอ. ไอ. ดี. จำกัด ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ยอมรับในการประนีประนอมยอมความกับไมโครซอฟท์อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากตัวแทนจำหน่าย (DTPP) ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
นายพิศาล พงศ์เพชร พนักงานขายประจำบริษัท เอ. ไอ. ดี. จำกัด ให้การสารภาพว่ามีการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์ไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องใหม่ที่ตนเป็นผู้จำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป นายพิศาลให้การโดยละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบายของบริษัทฯ ที่ผู้บริหารเป็นผู้อนุมัติ และที่สนับสนุนพฤติกรรมการดาวน์โหลดฮาร์ดดิสก์อย่างผิดกฎหมาย และยังเปิดเผยต่อไปอีกว่า เท่าที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้วถึงประมาณ 100 เครื่องต่อเดือน ที่สาขาทั้งสองแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นล้วนบรรจุซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ทุกเครื่อง
นายดำรง อังสนานนท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท เอ. ไอ. ดี. จำกัด ผู้ต้องคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ได้หนีคดีไปก่อนหน้านี้แล้วมีแต่นายพิศาลเท่านั้นที่เข้ามาต่อสู้ในคดี
นายพิศาล กล่าวแสดงความเห็นหลังจากรับสารภาพว่า "ผมขอแนะนำให้ร้านค้าผู้จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์และพนักงานอย่าได้หลงผิดคิดไปติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ลูกค้าเป็นอันขาดเพราะมันไม่คุ้มค่าอะไรเลย การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งที่สมควรที่สุด
มร. คริสโตเฟอร์ ออสติน ทนายความประจำบริษัทไมโครซอฟท์กล่าวว่า "ตั้งแต่ถูกจับได้ว่าเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ด้วยวิธีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องพีซีเพื่อขาย สาขาทั้งสองของร้านเอ.ไอ.ดี คอมพิวเตอร์ที่เสรี เซ็นเตอร์และที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าได้ถูกปิดไป ส่วนนายดำรง กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ได้หนีคดีไป และศาลได้ออกหมายจับไปแล้ว ซึ่งเรามั่นใจว่าผู้ต้องหาจะถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน"
มร. ออสตินกล่าวต่อไปว่า "คำสารภาพของนายพิศาลช่วยเน้นย้ำสิ่งที่เราทราบกันมาอยู่ก่อนแล้วว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์จะถูกจับได้ในที่สุดและจะต้องเผชิญกับผลลัพท์ที่รุนแรงต่อไป การขโมยซอฟต์แวร์ในลักษณะเช่นนี้สามารถตรวจสอบได้ง่ายมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดร้านค้าผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์เหล่านี้จึงยอมเอาธุรกิจและชื่อเสียงของตนมาเสี่ยงโดยการดาวน์โหลดระบบคอมพิวเตอร์เอาไว้ขายพร้อมกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์ที่ก๊อปปี้มา"
ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่นยื่นฟ้องบริษัท เอ. ไอ. ดี. จำกัดในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเดือนกันยายน 2540 ภายหลังจากที่พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ซื้อมาจากร้านดังกล่าวบรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 95 ฉบับภาษาไทย และโปรแกรมออฟฟิศ 95 ฉบับภาษาไทย
ไมโครซอฟท์ปฎิบัติการสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบร้านค้าผู้จำหน่ายอยู่เป็นประจำภายใต้โครงการสำรวจซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากตัวแทนจำหน่าย ที่ริเริ่มและดำเนินการอยู่ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่รณรงค์ปกป้องและสนับสนุนร้านค้าผู้จำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ซื่อสัตย์และทำถูกต้องตามกฎหมายจากการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมและผิดกฎหมาย โครงการทดสอบผู้ขายเจาะจงพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายหรือรีเซลเลอร์ที่ทำสำเนาโปรแกรมประยุกต์สำเร็จรูปและระบบปฏิบัติการบนฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องพีซีเครื่องใหม่จากบริษัทห้างร้านของตน
มร. ออสติน กล่าวว่า "เท่าที่ผ่านมาโครงการตรวจสอบผู้จำหน่ายที่ไมโครซอฟท์ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมีความตื่นตัวอย่างมาก และไมโครซอฟท์ได้กระทำการต่อต้านผู้จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์รายอื่น ๆ อีกหลายรายด้วยวิถีทางตามกฎหมาย"
เขากล่าวต่อไปว่า "ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ทุกรายควรเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนว่า ไมโครซอฟท์มีแผนที่จะลงมือตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบผู้จำหน่ายให้บ่อยขึ้นและเล็งกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้จำหน่ายจำนวนมากขึ้นด้วยในปีหน้านี้ และจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะกำจัดพฤติกรรมผิดกฎหมายนี้ให้หมดไป
โครงการสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผู้จำหน่าย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการ รณรงค์ต่อต้านการขโมยซอฟต์แวร์ในตลาดการค้า และเป็นหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่ไมโครซอฟท์ดำเนินการเพื่อต่อต้านผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์ที่บรรจุซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย สำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ติดต่อแจ้งไปได้ที่สายด่วนไมโครซอฟท์ โทร. 632-0456
ไมโครซอฟท์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 และเป็นผู้นำการพัฒนาและการตลาดของซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer-PC) ทางบริษัทฯ มีซอฟต์แวร์หลายประเภทให้เลือกใช้ทั้งสำหรับองค์กรและผู้ใช้ตามบ้าน ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์ทุกตัวพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการใช้งาน และได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องพีซี Microsoft เป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน และ Windows เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 266-3300 ต่อ 115--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ