กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
พพ. และ กฟผ.ยันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ข้อมูลศักยภาพพลังงานลมมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และไม่ได้ประเมินสูงเกินจริง ชี้เบื้องต้นข้อมูลศักยภาพพลังงานลมมีมากกว่า 11,882 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ทั่วทั้งภาคแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา สามารถพิสูจน์ข้อมูลศักยภาพความเร็วลมได้จริง
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวถึง แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) โดยระบุว่า พพ. ได้ใส่ข้อมูลเกินจริงจนอาจเกิดการวางแผนการลงทุนที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้นั้น พพ.ขอชี้แจงประเด็นดังกล่าว โดยขอยืนยันว่าข้อมูลที่ปรากฎในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 -2579 หรือ PDP 2015 ในส่วนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับผ่านการศึกษาวิจัยมาก่อนที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์
พพ. ได้ทำการศึกษาแผนที่ศักยภาพพลังงานลม โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการศึกษา ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานลมสูงถึง 13,019 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในภาคใต้ 11,882เมกะวัตต์ และ พพ.ยืนยันว่าไม่ได้มีการประเมินศักยภาพพลังงานลมในพื้นที่ภาคใต้ไว้สูงเกินจริงตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ จากแผน AEDP เบื้องต้น ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมด 19,684.70 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 และในพื้นที่ภาคใต้มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2,966.81 เมกะวัตต์ ในส่วนของพลังงานลมที่เป็นประเด็นนั้น พพ. ยืนยันว่า พื้นที่ภาคใต้มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ นายธรรมยศกล่าว
ด้านนายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ และเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆตามแผน PDP 2015 นั้น กฟผ. ได้มีแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้หลายโครงการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นต้น