กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
ป.ป.ช. จับมือธนาคารโลก และองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลในประเทศไทย จัดการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ครั้งที่ 3) หวังสร้างเครือข่ายในระดับสากลเพื่อปรับใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
สำนักงาน ป.ป.ช. โดยศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ ธนาคารโลก (WorldBank) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลในประเทศไทย (Transparency International - Thailand) กำหนดจัดการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ครั้งที่ 3 ) โดยโครงการนี้จัดทำขึ้น เป็นประจำทุกรอบระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ในทางวิชาการและการวิจัย ที่ได้มีการดำเนินการและการนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติที่เปิดกว้างให้แก่นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีบทบาทและประสบการณ์ในงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในระดับนโยบาย ผู้ปฏิบัติ ระดับประเทศ/ชุมชน/ระหว่างประเทศ ภาคส่วนในสาขาการผลิตต่างๆ ฯลฯ ได้มานำเสนอผลงานวิจัยทางวิชาการเพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในระดับต่างๆ ของทุกภาคส่วนในสังคม ตลอดจนการได้รับทราบข้อมูลสภาพปัญหาและการดำเนินการทางปฏิบัติ ของหน่วยงาน/องค์กร/เครือข่าย/และกลุ่มภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ในการปรับใช้และ ต่อยอดแนวคิด/แนวทางการดำเนินภารกิจของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามที่กำหนด ในแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ และยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. ระยะที่ 2
โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 มิถุนายน 2558 เวลา 08.30 - 15.15 น. ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558 เวลา 08.30 – 15.15 น. ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และหลังจากนั้นจะมีการปาฐกถาพิเศษ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตครั้งที่ 3ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายให้มีฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิเคราะห์วิจัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการเพิ่มพูน/ขยายองค์ความรู้เพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในมิติของการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สิน การสร้างเครือข่าย และอื่นๆ ที่มีการใช้ในระดับสากล เพื่อการปรับใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดจนผลักดันการดำเนินงานตามภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อไป