กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
บทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต. ที่เป็นการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง จะทำอย่างไรให้เยาวชนในท้องที่ท้องถิ่นที่ตนเองดูแลอยู่เป็นเยาวชนที่ดี เป็นที่พึ่งของพ่อแม่และคนในชุมชนได้แม้กระทั่ง “เด็กกลุ่มเสี่ยง” ที่ผู้ใหญ่ต้องกุมขมับ แม้จะยากแต่อบต.ก็ต้องหาวิธีการนั้นมาให้ได้ วันนี้มีตัวอย่าง “บทบาทของ อบต. กับการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง” เกิดขึ้นที่ อบต.เมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ มาดูว่าจะมีกระบวนการอย่างไรในการดึงเด็กกลุ่มแว๊นมาเป็นแกนนำเยาวชนจนชุมชนมีความสุขคืนกลับมาได้!!!
ปัญหาเด็ก เยาวชนที่สั่งสมมานานของ อบต.เมืองลีง ทำให้นายประเสิรฐ สุขจิต นายกอบต. คิดหาวิธีแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2539 แต่มาเห็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นหลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เ มื่อปี 2556 กระบวนการอบรมโดย อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยเน้น on the job training และใช้วิธี Professional Learning Community (PLC) ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดการพัฒนาตนเองและที่สำคัญได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแกนนำเยาวชนต.เมืองลีงรุ่นที่ 1 จำนวน10 คน หลังผ่านค่าย 21 วัน ของสถาบันยุวโพธิชน โดยมีอ้อย - วราภรณ์ หลวงมณี เป็นโค้ช ที่ภาคีร่วมกันจัดขึ้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เด็กรักถิ่นฐาน กล้าแสดงออก คิดวิเคราะห์เป็น ทำดีในชุมชน
พอเริ่มตั้งไข่ได้ นายกฯ ประเสริฐ ไม่หยุดนิ่งมองเห็นโอกาสในการพัฒนาเยาวชนต่อรุ่นที่ 2 ทันที โดยให้แกนนำเยาวชน รุ่น 1 นำร่องในการร่วมคิดร่วมทำในการต่อยอดสู่แกนนำเยาวชนรุ่น 2 พี่ๆ รุ่นหนึ่งชี้เป้าอยากให้อบต.ช่วยพัฒนาเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเมืองลีงวิทยา ห้อง ม.4/2 ที่ไม่มีใครเหลียวแลถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มเด็กหลังห้องทั้งเกเร ทะเลาะวิวาท ขาดเรียน ไม่มีวินัย ทั้ง 28 คน นายกฯ ประเสิร์ฐ เห็นดีด้วยเพราะอยากให้เด็กๆ กลุ่มเสี่ยงได้แสดงศักยภาพในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้นและเชื่อมั่นว่ากระบวนการค่ายจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จึงได้หารือร่วมกับทางสรส.และมูลนิธิสยามกัมมาจล เห็นพ้องกันจัดให้มีโครงการอบรมเสริมสร้างศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชน ต.เมืองลีง เมื่อวันที่ 13-15 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อค่ายเหลือเพียง 3 วัน ทางยุวโพธิชนจึง มีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบเข้มข้น ผ่าน 4 กระบวนการได้แก่ 1. “โยนิโสมนสิการ” ใช้กิจกรรม รู้จักตนเองผ่านธาตุทั้ง 4 , การทำสมาธิ,การใช้คำถามและงานศิลปะ จะทำให้เยาวชนได้รู้จักตนเอง ไม่ถูกตนเองและให้กำลังใจคนอื่นเป็น 2.“กัลยาณมิตร” ใช้กิจกรรม แม่น้ำพิษ เป็ดชิงพื้นที่ ทำให้เยาวชนมองเห็นค่าในตัวเอง ให้โอกาสตัวเอง ฯลฯ 3.“การฝึกฝนตนเอง” คือการวางเป้าหมายชีวิต การประเมินตนเอง ทำให้เยาวชนบ่มเพาะนิสัยพอเพียง กล้าทำตามฝัน มีสติ สมาธิ ปัญหา และ 4.“การทำงานร่วมกัน” ผ่านโครงงานครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ทำให้เยาวชนรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ค่าย 3 วันทำให้เยาวชนห้อง ม.4/2 ได้สำรวจตนเอง สำรวจชุมชนทำให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเด็กหลังห้อง เด็กแว๊นสร้างความรำคาญให้ชุมชนกลายมาเป็นแกนนำเยาวชนเมืองลีงรุ่น 2 สานต่องานรุ่นพี่ และพิสูจน์ตัวเองด้วยโครงการเด็กแว๊นกลับใจ เยาวชนมะนาวพันล้าน การจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์ปลอดภัย เยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลยาเสพติด และร่วมสืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งโครงการถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เพื่อการบ่มเพาะนิสัยเยาวชนให้มีความรับผิดชอบ ทำงานเป็นทีม ฯลฯ
หลังจบจากค่ายแกนนำเยาวชนรุ่น 2 และแกนนำโครงการเด็กแว๊นกลับใจ นางสาวเสาวรีย์ แสนกล้า ชื่อเล่น ก๋อย ชั้น ม.4 อายุ 17 ปี เผยว่าได้เปลี่ยนแปลงตนเองหลายอย่าง “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่ายเขาสอนให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ขยันขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราสำคัญ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ในค่ายเขาจะฝึกให้เราตรงต่อเวลา เมื่อก่อนเคยมาเรียนสายมาถึง 7 โมง 55 นาที เราก็มาเร็วขึ้นเป็น 7 โมง 20 นาที เพราะคิดว่ามาเร็วมันดีกับตัว และได้เรื่องความซื่อสัตย์ ไม่โกง เช่น ตอนสอบที่เพิ่งผ่านไป เราไม่ลอกข้อสอบเพื่อนและไม่ให้เพื่อนลอกด้วย เมื่อก่อนตอนเทอม 1 เราอ่อนวิชาฟิสิกส์เราเห็นเพื่อนทำข้อสอบเสร็จเร็ว เราก็สะกิด ขอลอก แต่เทอมนี้เราไม่ลอก มีระเบียบ อ่านหนังสือก่อนนอน มาโรงเรียนก็อ่าน ที่ไม่ลอกเพราะคิดว่าลอกไปถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ลองใช้ความคิดตัวเองดีกว่า อาจจะถูกเพราะเราอ่านแล้ว และเพิ่งรู้ว่าตัวเองสำคัญ พอรู้ว่าตัวเองสำคัญก็อยากทำให้ตัวเองดีขึ้น
“ก๋อย” ได้เล่าถึงการทำโครงการซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการเข้าค่ายว่า “ ในค่ายเขาให้จับกลุ่มกันเป็นหมู่บ้าน กลุ่มก๋อยอยู่บ้านยาง หมู่ 12 มีกัน 9 คน แล้วให้โจทย์มาว่าหมู่บ้านเรามีปัญหาอะไร แก้อย่างไร มีวิธีการ ขั้นตอนในการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง เขาให้เราช่วยกันคิดแล้วเขียนออกมา เราเลยช่วยกันดูปัญหามีเรื่องขยะกับเรืองเด็กแว๊น ซึ่งเรื่องเด็กแว๊นเป็นปัญหามานานแล้วตั้งแต่ก๋อยอยู่ ป.5 ท่อเสียงดัง ก่อความรำคาญมาก พวกเราอยากแก้ไขก็เลยตกลงทำโครงการนี้เราก็เริ่มสำรวจว่าหมูบ้านเรามีใครขับรถแว๊นเสียงดังมาก เราก็จะจดรายชื่อไว้ ที่บ้านยางมี 6 คน มีบ้านหนองกุ้งประมาณ 7คน อายุประมาณ 14-15 ปี จากนั้นเราก็เข้าไปพูดคุยกับน้องๆ โดยตรง ชวนเขาว่าเห็นน้องขับรถเสียงดังมากพี่จึงอยากชวนเข้าโครงการบำเพ็ญประโยชน์เขาก็ไปค่ะ ไม่ได้ขัดขืนอะไร และไปพูดคุยกับพ่อแม่ของน้องๆ ว่าจะชวนลูกมาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้หมูบ้าน เขาก็เห็นด้วย สนับสนุน แต่เราไม่ได้ไปบอกว่าลูกเขาขับรถเสียงดัง รบกวนคนอื่น ไม่ได้บอกตรงๆ การที่ชวนน้องมาทำกิจกรรมเขาจะได้ไม่มีเวลาว่างไปขับรถแข่งกัน ให้บำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน เช่น กวาดลานวัด เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กอนุบาล และร่วมกันเก็บผักตกชวาในคูมาทำปุ๋ยให้หมู่บ้าน รู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำงานเพื่อชุมชน”
นายฑีฆทัศน์ ชมหมื่น ชื่อเล่น ทิ ชั้น ม.4 อายุ 17 ปี อดีตเด็กแว๊นกลับใจมาเป็นแกนนำเปิดเผยว่า “ได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคี ความอดทน มีวินัย เมื่อก่อนเข้าแถวบ้าง ไม่เข้าแถวบ้าง มาสายด้วย นอนดึกแล้วตื่นสาย แต่เดี๋ยวนี้นอนเร็วขึ้น มาเช้าขึ้น เข้าแถวทันด้วย มาคิดได้เอง เขาอบรมว่าเราต้องมาตรงเวลา ต้องไม่สาย เมื่อก่อนผมขับรถแว๊น ใจรัก ชอบแว๊น ชอบแต่งรถ เสียงดัง แต่เพิ่งไปเอาออกแล้วครับ สิ่งที่เปลี่ยน ขับรถเร็ว ขับรถอันตราย เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้ว เราก็จะเตือนเพื่อน รู้สึกรักตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนไม่คิด ใช้ชีวิตไปวันๆ เมื่อก่อนเป็นทริปไปมั่วสุมกันตอนกลางคืน ไปเที่ยวเล่น ไปกินเหล้า เราเปลี่ยนจากไปแบบนั้นมารวมตัวกันทำบุญวัดที่ขาดแคลน มาช่วยชุมชน ก็อยากให้น้องๆ เขาเปลี่ยนนิสัย เป็นห่วงอนาคตเขา อาจจะรถล้ม เสียชีวิตได้ ในหมู่บ้านมีหลายคนที่เป็นแบบนี้ อยากให้น้องเขามีความคิดเป็นของตัวเอง ให้ทำความดีบ้าง การที่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทำให้เรามีโอกาสทำอะไรแบบนี้ ดีใจที่เขาให้โอกาส”
นายประเสริฐ สุขจิต นายก อบต.เมืองลีง เผยว่า “หลังจากเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนแกนนำในพื้นที่ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสเยาวชนในหลายพื้นที่ พบว่าเยาวชนมีศักยภาพทั้งในส่วนสร้างสรรค์และทำลาย ทำอย่างไรจะกระตุ้นส่วนที่สร้างสรรค์มาพัฒนาประเทศชาติให้ได้มากสุด ตอนเห็นชื่อโครงการแว๊นกลับใจ ผมรู้สึกว่าท้าทายมาก เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่พอคุยกับเด็กว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เขาบอกว่าเริ่มจากตัวกลุ่มเด็กๆ เองที่มีพฤติกรรมแว๊น แล้วค่อยขยายไปสู่เพื่อนๆ ดังนั้น ผมจึงมั่นใจว่าถ้าพี่เลี้ยง (นักถักทอชุมชน) ประคับประคองดีๆ ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ ผมได้เข้าไปช่วยคุยกับผู้ปกครอง ผู้นำต่างๆ กรรมกรรมหมู่บ้าน ถ้าทำเรื่องนี้ได้จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศ คือ เรื่องเด็กและเยาวชนได้อีกทางหนึ่ง ผลที่เกิดขึ้นเด็กห้องนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองในทางที่ดีขึ้น โรงเรียนยอมรับในเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น มีแผนการที่จะพัฒนาต่อร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลและสรส. ตั้งเป้าไว้อยากให้มีแกนนำทุกหมู่บ้าน อย่างน้อยหมู่บ้านละ 5 คน (มี 18 หมู่บ้านปัจจุบันแกนนำเยาวชนเมืองลีงมีจำนวน 34 คน)” นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเยาวชนกลุ่มเสี่ยงด้วยการใช้กระบวนการต่างๆ เข้าช่วยเหลือ ไม่ใช่การดุด่าหรือสอนสั่งแบบเดิมอีกต่อไป วันข้างหน้าผลที่เกิดขึ้นจะงอกงามเพียงไร ต้องติดตามกันต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com