กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
เผยโฉมรถโดยสารไฟฟ้าภูมิปัญญาไทย ออกแบบโดยคนไทย ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่หรือระบบลูกผสม (แบตเตอรี่ร่วมกับเครื่องยนต์) พิสูจน์คุณภาพจากการใช้งานจริงเข้าสู่ปีที่ 9 วอนรัฐสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอด ขานรับนโยบายรัฐที่มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน
นายเขมทัต สุคนธสิงห์ กรรมการผู้จัดการ และผู้ดำเนินการบริหารจัดการบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด และบริษัท สิขร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำรถโดยสารไฟฟ้าภูมิปัญญาไทย ที่ได้มาตรฐานจากการทดสอบให้บริการเดินรถจริง วันละ 12 ชั่วโมง เข้าสู่ปีที่ 9 มาจัดแสดงในงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางโซลาร์รูฟเสรีและยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน” เพื่อแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชนทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ด้านระบบ การควบคุมมอเตอร์ขับเคลื่อน การบริหารจัดการจัดการแบตเตอรี่ รวมทั้งแก้ปัญหาด้านเทคนิค การดำเนินงานและการปฎิบัติได้อย่างสมบูรณ์แบบ
กรรมการผู้จัดการบริษัท กล่าวเพิ่มเติมว่า “การผลิตรถโดยสารไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผลิตได้แล้วใช้งานจริงได้อย่างปลอดภัย ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสมต่างหากทำให้รถสามารถแข่งขันในตลาดได้ เราโชคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้โอกาสได้ออกแบบและดำเนินการแทนรถที่ใช้ระบบเก่าที่ใช้เชื้อเพลิง มาเป็นระบบไฟฟ้า แม้ว่าต้นทุนจะสูงกว่า การบริหารจัดการประสบปัญหาด้านเทคนิคบ้าง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาทั้งทางวิชาการและการปฎิบัติ จนเป็นรถโดยสารระบบไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบ และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนเข้าสู่ปีที่ 9
แม้ที่ผ่านมา การขยายตัวจะเป็นไปได้ช้าบ้าง แต่หากภาครัฐมีนโยบายและมีมาตรการสนับสนุน เช่น มาตรการทางภาษีหรือมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ก็จะมีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนได้อย่างแน่นอน” นายเขมทัตย้ำ
ทีมงานสามารถออกแบบยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้หลายประเภท ทั้งรถโดยสารไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบปรับอากาศและไม่ระบบปรับอากาศ และยานยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานจริงและวิ่งให้บริการอยู่หลายพื้นที่ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และบริษัทชั้นนำหลายแห่ง
จุดเด่นของรถโดยสารภูมิปัญญาไทยของบริษัทคือ การจัดการระบบพลังงานและการอัดบรรจุพลังงานไฟฟ้าที่ง่ายต่อการดูแลไม่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับการผลิตของประเทศจีนในปัจจุบัน โดยรถโดยสารไฟฟ้าที่นำมาแสดงในงาน ได้แก่ รถบัสโดยสาร 16 ที่นั่ง รุ่น 5-453 ความเร็วสูงสุด 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบัสโดยสาร ขนาด 18 ที่นั่ง รุ่น 6-853 ความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถบัสโดยสารปรับอากาศ ขนาด 22 ที่นั่ง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งราคาสามารถที่จะแข่งขันกับรถที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซธรรมชาติได้ เมื่อคำนึงถึงค่าบำรุงของรถไฟฟ้าที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท สิขร จำกัด เป็นบริษัทออกแบบและพัฒนายานยนต์ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2523 เพื่อออกแบบ วิจัย พัฒนาและผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็นบริษัทผู้ผลิต รถสามล้อไฟฟ้า เพื่อใช้ในการต้อนรับกลุ่มผู้นำจากประเทศในกลุ่ม APEC ที่เดินทางมาประชุมในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2546 เริ่มออกแบบและผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าประเภทอื่นๆ
ใน พ.ศ.2550 เริ่มนำรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 15 คัน ให้บริการภายใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริหารจัดการโดยบริษัท พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ปัจจุบันขยายการ ให้บริการเป็น 25 คัน เพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสารสูงสุด 30,000 คนต่อวัน และปัจจุบัน เป็นบริษัทผู้ผลิตรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้กับมหาวิทยาลัยและบริษัทหลายแห่ง