กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เ รื่อง “แนวทางการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามลักษณะของดินและชนิดพืช” ณ โรงแรมแคปปิตอล เจ แอท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักถึงปัญหาปุ๋ยราคาแพงและขาดคุณภาพ ที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาปุ๋ยและปฏิรูประบบการเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์ และพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาและคุณภาพปุ๋ย รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ โดยประเด็นเร่งด่วนประกอบด้วย 1) การแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพง 2) ปุ๋ยไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน 3) เกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมตามลักษณะดินและชนิดพืช
สำหรับการแก้ไขปัญหาปุ๋ยไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน กระทรวงเกษตรฯได้พิจารณากำหนดคุณลักษณะของผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ภายใต้ พ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม 2550 เพื่อที่จะพัฒนาและควบคุมคุณภาพในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ประกอบด้วยคุณลักษณะ 10 ข้อ ได้แก่ 1) ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 2) ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยตาม พ.ร.บ. ปุ๋ย ฯ 3) ใบอนุญาตขายปุ๋ย (ช.ป.1) ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ยฯ 4) ใบอนุญาตส่งออกปุ๋ย ตาม พ.ร.บ. ปุ๋ยฯ 5)ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) กระทรวงอุตสาหกรรม 6) ระบุวันผลิต-วันหมดอายุ ที่กระสอบ 7) ต้องมีคำแนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการเก็บรักษาฯที่ข้างกระสอบ 8) ได้รับการรับรองมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน 9) มีห้อง LAB มาตรฐาน และ 10) การนำระบบตรวจสอบ QR Code ทั้งนี้ คุณลักษณะดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาและทบทวนปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้เกิดความชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร
การดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะดินและชนิดพืช โดยการจัดทำคู่มือการจัดการดินและปุ๋ย เพื่อแนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับลักษณะดินและชนิดพืช เพื่อเผยแพร่ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร ภายใต้หลักการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและ ถูกวิธี เป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการองค์ความรู้การใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมที่มีอยู่หลากหลายในทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การสัมมนาในวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินการเสริมสร้างความรู้ในการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามลักษณะดินและชนิดพืช จะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์สร้างความเข้าใจร่วมกัน ในการทบทวนและจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคู่มือการจัดการดินและปุ๋ยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้เรียนรู้ร่วมกันในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานการพัฒนาและแนวทางการเสริมสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม และกลไกลการดำเนินงานขับเคลื่อน เพื่อให้เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ/มาตรฐาน รวมทั้งได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการดำเนินงานและกำหนดมาตรฐานต่อไป” พลตรีอินทรัตน์ กล่าว