กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม รุกสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าโอทอปให้เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยยอดเยี่ยม ภายใต้โครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2558 “ThaiStar Packaging Awards 2015” ปีที่ 38 มุ่งสร้างศักยภาพบรรจุภัณฑ์โอทอปไทยให้สามารถทัดเทียมนานาประเทศ ภายใต้หัวข้อ “หลากหลายวัสดุบรรจุภัณฑ์” พร้อมเปิดตัว ผู้ชนะเลิศจาก4 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไปรางวัลชนะเลิศคือ ชื่อผลงาน AssawaThaiChess โดย นายปฏิรัตน์ ศรีผิวจันทร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป รางวัลชนะเลิศคือชื่อผลงาน Jarong (The ceramic bowlset) โดยนายชุติเทพ ใจดี และ นายนิธิศ เลาหรัตนาหิรัญ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ 3. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายแล้วในท้องตลาด มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน10 รางวัล และ 4.ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง สำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายแล้วในท้องตลาดมีผู้ประกอบการได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 10 รางวัล สำหรับผู้ได้รับรางวัลจะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ในระดับเอเชีย (AsiaStar Awards) และระดับโลก (WorldStar Awards)ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน คิดเป็นเงินปีละ 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษของอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อการเติบโตอย่างมีศักยภาพและเข้มแข็งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอปถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศไทย โดยในแต่ละปีมียอดจำหน่ายรวมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สูงถึงปีละกว่า 80,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กสอ.มีกิจกรรมเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ OTOP ได้เห็นถึงช่องทางในการพัฒนายกระดับสินค้าให้เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างคุณภาพและความโดดเด่นสวยงามเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตมากขึ้น โดยกลยุทธ์การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป อับดับต้นๆคือ การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากรูปแบบและสิ่งที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์จะสามารถสื่อสารข้อมูลของผลิตภัณฑ์และดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้ รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะช่วยให้ผู้บริโภคยินดีจ่ายมากขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-15 ทั้งนี้หากสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ได้ ก็อาจส่งผลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกือบทุกสาขา และมีผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจในตลาดโลก ซึ่งนอกจากผู้ผลิตสินค้าจะต้องคำนึงถึงคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผลผลิตแล้ว บรรจุภัณฑ์ก็เป็นองค์ประกอบร่วมในการกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์เพราะถือว่าเป็นต้นทุนการผลิต (Production Cost) ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรให้แก่ผู้ประกอบการได้
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากสอ.ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเดินหน้าจัดโครงการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยประจำปี 2558“ThaiStarPackagingAwards2015” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 38โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษานักออกแบบและผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ ได้มีเวทีในการแสดงความรู้ความสามารถในการออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยในปี 2558 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น 469 ผลงานซึ่งมีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 37ผลงาน และได้รับรางวัลพิเศษการประกวดออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ จำนวน 2 รางวัล ทั้งนี้ การจัดการประกวดดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยกิจกรรมดังกล่าว กสอ.ร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “หลากหลายวัสดุบรรจุภัณฑ์” ซึ่งหมายถึงการใช้วัสดุในการผลิตที่เหมาะสม โดยอาจใช้เพียงวัสดุเดียวหรือวัสดุมากกว่า 1 ชนิด ในการผลิตเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านต่าง ๆ ของการใช้งานบรรจุภัณฑ์ และจะต้องสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 250,000 บาทโดยแบ่งออกเป็น4 ประเภทรางวัล ได้แก่
1.ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไปผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “AssawaThaiChess”ออกแบบโดย นายปฏิรัตน์ ศรีผิวจันทร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
2.ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “Jarong”(Theceramicbowlsset)ออกแบบโดย นายชุติเทพ ใจดี และนายนิธิศเลาหรัตนาหิรัญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ
3.ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายแล้วในท้องตลาด มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 10 รางวัล
4.ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายแล้วในท้องตลาดมีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 10 รางวัล
นอกจากการประกวดระดับประเทศแล้ว กสอ. ยังส่งเสริมให้เกิดการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar) และระดับโลก (WorldStar) โดยเป็นการนำผลงานที่ได้รับรางวัลบรรจุภัณฑ์ไทยเข้าร่วมประกวด โดยรางวัลที่ได้รับแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
การประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก 2557 (WorldStar Student Awards 2014)มีผลงานที่ได้รับรางวัลจากประเทศไทย 1 รางวัล คือ นางสาววราภรณ์ หลักฐาน ชื่อผลงาน Elephant ในรางวัลประเภท“ผลงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการประกวด” (Certificate of Recognition)
สำหรับการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย 2557 (AsiaStar Awards 2014)มีผลงานจากประเทศไทยได้รับรางวัลจำนวน 16 รางวัล จากการส่งผลงานเข้าประกวด 23 ผลงาน โดยแบ่งออกตามประเภทของการส่งเข้าประกวดได้ดังนี้
1. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย จำนวน 3 รางวัลจากการส่งเข้าประกวดจำนวน 5 ผลงาน
2. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง จำนวน 1 รางวัลจากการส่งเข้าประกวดจำนวน 1 ผลงาน
3. ประเภทบรรจุภัณฑ์ระดับนักเรียน นักศึกษา จำนวน 12 รางวัล จากการส่งเข้าประกวดจำนวน 17 ผลงาน
ทั้งนี้ กสอ.กำหนดจัดพิธีมอบรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2557-2558 และรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย(AsiaStar Awards 2014)และรางวัลการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก (WorldStarAwards2014)ขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ภายในงานโปรแพ็ค เอเชีย 2015(PropakAsia2015)ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2558 จะได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ในระดับเอเชีย (AsiaStarAwards2015) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ กรุงอิสตันบูลสาธารณรัฐตุรกีและระดับโลก (WorldStarAwards) ต่อไปอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนคิดเป็นเงินปีละ 6 หมื่นล้านบาท (ที่มา: สำนักส่งเสริมธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) และเป็นศูนย์กลางการผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษของอาเซียน แต่เพื่อรักษามาตรฐานและสร้างการเติบโตอย่างมีศักยภาพในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นายอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาว วราภรณ์ หลักฐาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เจ้าของผลงาน “Elephant” ผู้ได้รับรางวัลผลงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการประกวด(CertificateofRecognition)จากการประกวด WorldStarStudentAwards2014เปิดเผยว่า การส่งผลงานเข้าประกวดครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ประจำภาควิชา ซึ่งชิ้นงานนี้ตั้งใจที่อยากสื่อออกมาให้เห็นถึงความเป็นไทยมากที่สุดแต่มีความทันสมัย จึงคิดว่าช้างซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยน่าจะเหมาะสมที่สุด จึงหาผลิตภัณฑ์ช้างแล้วนำมาเป็นแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์นี้ โดยดึงเอาความน่ารักของช้างออกมาเป็นจุดขาย ซึ่งการออกแบบนี้ตั้งใจให้ดีไซน์ของบรรจุภัณฑ์สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ โดยเป็นเซรามิกรูปช้าง เมื่อผู้บริโภคเห็นบรรจุภัณฑ์ก็ทราบทันทีว่าผลิตภัณฑ์ด้านในเป็นอะไร ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความโดดเด่นและสร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สำหรับวัสดุที่เลือกใช้เป็นกระดาษรีไซเคิลและใช้สีโทนเย็น เพื่อให้สอดรับกับการดีไซน์ตัวช้างให้มีความน่ารักดูแล้วสบายตา ทั้งนี้ก่อนที่จะได้รับรางวัลในการประกวด WorldStar Student Awards 2014ครั้งนี้ เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 จากการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2556 ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไปมาแล้ว สำหรับความรู้สึกที่ได้รับรางวัลระดับโลกนั้น ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากเพราะไม่คิดว่าผลงานการออกแบบชิ้นเล็กๆชิ้นนี้จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยนำพาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปอวดสายตานานาชาติ อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่แนะนำโอกาสดีๆนี้ให้ และขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มองเห็นความตั้งใจ และมอบประสบการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ให้กับตน ซึ่งขณะนี้ตนก็กำลังมองหาแนวคิดต่อยอดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์แบบเดิมๆในท้องตลาด เพื่อสร้างพึงพอใจแก่ผู้บริโภคต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจขอรับบริการด้านบรรจุภัณฑ์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 2 ชั้น 6 อาคารสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0 2367 8181และสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ www.dip.go.thหรือwww.facebook.com/dip.pr