กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์
แชะ แชะ..... เสียงกดชัตเตอร์ของกล้องถ่ายรูปจากผู้บกพร่องทางการมองเห็นหรือคนตาบอดนั้น ทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียงและพบเห็นหลายคนเกิดความสงสัยและมีคำถามต่างๆนานาว่า ในเมื่อพวกเขามองไม่เห็นแล้วทำไมเขาถ่ายรูปกันได้! ใช้เทคนิคแบบไหนและถ่ายรูปได้จริงหรือ เพราะการถ่ายภาพสำหรับคนตาบอดนั้นมันแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยในความคิดของใครหลายๆคน สำหรับเยาวชนผู้พิการทางการมองเห็นจำนวน 25 ชีวิต ที่เดินทางมาจากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม “เรียนรู้พระพุทธศาสนาผ่านเลนส์ จากโลกของเด็กที่พิการทางสายตา” ซึ่งริเริ่มโครงการโดยบริษัท น้อมบุญ จำกัด หนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาฯย่านศรีนครินทร์ ที่ได้แบ่งปันและสานฝันเด็กๆให้เป็นจริงขึ้นมาได้
มานะ จิระนภากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมบุญ จำกัด หัวเรือใหญ่ของกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมแก่น้องๆผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า “ในวันวิสาขบูชา ที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรมเรียนรู้พระพุทธศาสนาผ่านเลนส์ จากโลกของเด็กที่พิการทางสายตา เปิดโอกาสให้เด็กๆตาบอดมาเข้าแคมป์ปฏิบัติธรรมและเรียนรู้การถ่ายภาพ 1 คืน 2วัน ณ วัดทุ่งเศรษฐี จ.ขอนแก่น เด็กๆได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาผ่านการฟังธรรมเทศนา นิทานชาดก การนั่งสมาธิ เวียนเทียน ทำบุญใส่บาตร และร่วมการถ่ายภาพ โดยมีครูจิตอาสากลุ่ม Pict4all มาช่วยสานฝันโดยสอนหลักการถ่ายรูปอย่างง่ายให้เด็กๆ สามารถถ่ายภาพได้เช่นเดียวกับคนปกติ และไฮไลท์ของกิจกรรมนี้ คือ การนำภาพถ่ายจากฝีมือพวกเขามาร้อยเรียงเล่าเรื่องผ่านการแสดงละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรม? ?ซึ่งเด็กๆ สามารถถ่ายทอดความเข้าใจและความรู้สึกออกมาได้ดี ซึ่งเสมือนเป็นการไขกุญแจประตูที่ปิดกั้นจินตนาการและความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขาออกมา และจากการเห็นความตั้งใจ ความสามัคคี ตลอดจนรอยยิ้มเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่ได้ร่วมกิจกรรมนั้น มันทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจและมีความสุขที่ได้แบ่งปันโอกาส ซึ่งผมมีความเชื่อว่าการให้เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ และทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น” นายมานะ กล่าว
น้องเอ - ด.ช.ชนาธิป ประทุมมี ชั้นป.5 “ถึงผมจะมองเห็นได้ไม่ชัดเหมือนคนอื่น แต่ผมก็ได้มีโอกาสเรียนถ่ายภาพในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ก็รู้สึกชอบและสนุกที่พี่ๆพามาทำกิจกรรม อยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ นอกจากได้เรียนถ่ายภาพแล้วที่สำคัญผมยังได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เดินจงกรม และเวียนเทียน รู้สึกประทับใจมากครับ เพราะไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ผมชอบเจดีย์มหารัตนเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ เพราะสวยและมีปริศนาธรรมคำสอนตามฝาผนังดูแปลกตา ผมรู้สึกชอบที่นี่ ถ้ามีโอกาสผมจะมาอีกครับ อยากให้เพื่อนๆที่มองเห็นได้มาเห็นกับตาตัวเองด้วยครับ”
น้องแพรว-ศศิธร กอกกระโทก กล่าวไว้พร้อมรอยยิ้มที่สดใส “ครั้งแรกที่ได้จับกล้องรู้สึกตื่นเต้นและยาก แต่พอได้ถ่ายสัก 4-5 ครั้ง ก็เริ่มถ่ายภาพได้ตรง และใช้กล้องถ่ายรูปได้คล่องขึ้น วันนี้หนูได้เรียนการถ่ายภาพแบบมาโครเป็นการถ่ายภาพระยะใกล้ และได้ฝึกการทำสมาธิเพราะการถ่ายรูปต้องมีสมาธิก่อน ถ้าเรามีสมาธิก็จะทำทุกอย่างออกมาได้ดี ในอนาคตหนูอยากมองเห็นเพราะหนูอยากเป็นตากล้อง เพราะหนูคิดว่าการเป็นตากล้องได้ถ่ายภาพมันเท่ห์กว่าคนที่ถูกถ่ายภาพค่ะ คนปกติเขาสามารถวาดภาพถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพวาดได้ หนูเองก็อยากสื่อสารความรู้สึกที่มีผ่านภาพถ่ายได้เหมือนกันค่ะ ก็รู้สึกภูมิใจที่หนูก็สามารถทำได้ค่ะ”
“ขออนุญาติถ่ายรูปพี่หน่อยนะคะ” เสียงเจื้อยแจ้วของ น้องแบมแบม -ด.ญ.ศุลีพร เย็นสวัสดิ์ ชั้น ป.4 แม้ว่าเธอจะมองไม่เห็นเลย แต่ก็สามารถบอกเล่าขั้นตอนการถ่ายภาพให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าทุกครั้งที่จะถ่ายภาพคนต้องขออนุญาติถ่ายภาพก่อนทุกครั้ง เพราะถือเป็นมารยาท จากนั้นเริ่มด้วยการวัดระยะ โดยการยื่นแขนให้สุดและจับที่หัวไหล่ และถอยหลังประมาณ 4 ก้าว สำหรับการถ่ายภาพเดี่ยวหรือคู่ โดยให้ถือกล้องในแนวตั้ง จะทำให้ได้ภาพที่ตรงและสวยงาม และเธอยังบอกอีกว่า “การรักษาศีล5 ถือเป็นการทำดี และทุกครั้งที่หนูสวดมนต์ทำบุญใส่บาตร หนูจะขอพรให้ได้มองเห็น เพราะหนูเชื่อว่าทำดี ต้องได้ดีค่ะ” น้องแบมแบม กล่าวทิ้งท้ายอย่างไร้เดียงสา
หากเปรียบกลุ่มเยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็น เหมือนเมล็ดพันธุ์ก็อาจเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ภายนอกอาจแค่ดูบิดเบี้ยวไม่สวยงามตามที่ควรจะเป็น แต่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ก็ยังสามารถเพาะปลูกให้เป็นต้นกล้า และสามารถเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ผลิดอกออกผลสวยงามได้เช่นกัน ดังนั้นหากสังคมแบ่งปันน้ำใจให้เยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็น ได้มีพื้นที่และมีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ และแสดงออกออกมาอย่างเต็มความสามารถ เราคงได้มีบุคลากรเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยที่จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยกันพัฒนาประเทศเราให้เดินไปข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าสังคมไทยเราคงเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น และคงอยู่ได้ด้วยความน่าภาคภูมิใจกับการเห็นคุณค่าของมนุษย์ที่ไม่ใช่เปลือกนอก แต่เป็นการเห็นด้วยหัวใจอย่างแท้จริง