กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--อินคริสซ์ เน็ทเวิร์ค เอเจนซี แอนด์ คอนซัลแทนส์
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับบริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความสำเร็จโครงการ“ส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” หลังเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2557 โดยมีผู้ประกอบการกว่า 100 รายร่วมในงาน พร้อมกิจกรรมเสวนา...สินค้าไทยก้าวไกลด้วย RFID..... เผยกระแสตอบรับดีเกินคาด เทคโนโลยี RFID สนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการเกินความคาดหมาย
นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอแซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ระบบ RFID มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจเป็นอย่างมาก แม้ว่าในอดีตบทบาทของ RFID จะอยู่ที่การจัดการด้านโลจิสติกส์ แต่ในปัจจุบัน RFID มีการพัฒนาจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ทุกประเภท โดยกรอบของการประยุกต์ใช้จะอยู่ที่การจัดเก็บข้อมูล การบันทึกข้อมูลปริมาณมากต่อเนื่อง การติดตามผลการทำงานและการนำผลที่เกิดขึ้นมาประมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันระบบถูกพัฒนาให้ผู้ใช้มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล มีฟังก์ชั่นในการทำงานมากขึ้น แต่มีต้นทุนในการพัฒนาระบบต่ำลง การที่สำนักโลจิสติกส์จัดทำโครงการ“ส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” ขึ้น จึงสะท้อนให้ผู้ประกอบการเห็นมุมมองสำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือระบบ RFID สามารถมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกธุรกิจ ด้านที่สองคือความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคนไทย ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในการใช้ระบบ RFID ต่ำลง จนสามารถนำมาเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติได้ ความสำเร็จของโครงการนี้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ทุกกลุ่มธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่าพันล้านบาท
นายกำพล กล่าวว่าความสำเร็จของโครงการเกิดจาก สาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรกคือความเห็นพ้องกันของทั้ง 2 ฝ่าย ในการสร้างจุดเด่นของโครงการ ให้โครงการสามารถเลือกผู้ประกอบการที่มีลักษณะธุรกิจแตกต่างกันเข้าร่วมโครงการ การแยกประเภทธุรกิจชัดเจน ทำให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของระบบ RFID ในการตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพของธุรกิจ เพราะแต่ละธุรกิจจะมีจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต ด้านการประมวลผลข้อมูล ด้านการจัดเก็บสินค้า ด้านการนำส่งสินค้า หรือด้านความปลอดภัย ฯลฯ ประการที่สองคือ ความเชี่ยวชาญของเอเซนเทคในการตอบโจทย์ความหลากหลายของธุรกิจ เราใช้ประสบการณ์ 18 ปีสร้างความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการได้ตรงจุด ความเป็นบริษัทคนไทยที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของผู้ประกอบการ โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกให้การสนับสนุนทั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์ สำหรับประการที่สาม คือการที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ“ส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode” ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการอย่างรวดเร็ว จึงทำให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งทางเอเซนเทคฯต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ ปัจจุบัน RFID มีการพัฒนาไปมาก สามารถตอบโจทย์ได้กับทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการศึกษา อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมครัวเรือน อุตสาหกรรมเกษตร หรืองานด้านบริการ ฯลฯ สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่สนใจการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ โทร. 02-743-2533
สำนักโลจิสติกส์เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาส่งเสริมระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมตลอดโซ่อุปทาน โดยการเสนอแนะนโยบายและแผนงานในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม ดำเนินการพัฒนาส่งเสริมระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงตลอดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรม สร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นศูนย์กลางข้อมูลโลจิสติกส์อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย โดยดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2559) ใน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นมืออาชีพด้านการจัดการโลจิสติกส์ในสถานประกอบการของภาคอุตสาหกรรม (2) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยธุรกิจในโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม และ (3) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการสร้างปัจจัยเอื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในแต่ละปีจะมีการจัดทำโครงการหลายโครงการ หนึ่งในโครงการนั้นคือ โครงการส่งเสริมการปรับกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ด้วยการใช้เทคโนโลยี Application ระบบ RFID และ Barcode ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดทำโครงการ ระยะเวลารวม 240 วัน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนกรกฏาคม 2558 ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงทำให้โครงการดังกล่าวดำเนินการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว