กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดระยอง (สกย.จ.ระยอง) จัดสัมมนาครูยาง ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ “วิกฤตยางพารา เราจะก้าวผ่านได้อย่างไร” โดยมีครูยางจากอำเภอเมืองระยอง อำเภอเขาชะเมา อำเภอแกลง อำเภอวังจันทร์ อำเภอบ้านฉาง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง และอำเภอนิคมพัฒนา รวม 8 อำเภอ ในจังหวัดระยอง เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 240 คน ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการ ผู้อำนวยการ สกย. กล่าวว่า ในปัจจุบันราคายางพาราในท้องตลาดมีความผันผวน ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งในพื้นที่ปลูกยางเดิมและปลูกยางใหม่ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำจากการที่มีปริมาณผลผลิตยางเกินความต้องการ และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2558 สกย. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้การสงเคราะห์ปลูกแทนแบบเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ปลูกยางเดิมจำนวน 6 หมื่นไร่ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จ และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยางมากยิ่งขึ้น และ สกย. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลชาวสวนยางทั่วประเทศ ได้วางรากฐานในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง โดยให้ชาวสวนยางพัฒนาเป็นครูยาง เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้กับเพื่อนเกษตรกรร่วมอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 12,000 คน
นายไพบูลย์ กิตติพงษ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการ สกย.จ. ระยอง กล่าวว่า การสัมมนาครูยางในครั้งนี้ มีครูยางของ สกย.จ.ระยอง เข้าร่วม 240 คน และเป็นครูยางตั้งแต่รุ่นปี 2553 ถึง 2556 โดยครูยางทุกท่านจาก 8 อำเภอได้ทำหน้าที่และปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ร่วมกับพนักงานสงเคราะห์สวนยางในฐานะครูยางได้เป็นอย่างดี ซึ่งการสัมมนาครูยางในครั้งนี้ สกย.จ. ระยอง ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรผู้เป็นครูยาง ให้มีความรู้ ความเข้าใจกับสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะนำไปสู่การพัฒนาอาชีพการทำสวนยางอย่างยั่งยืน และสามารถถ่ายทอดความรู้ รวมถึงให้คำแนะนำแก่เกษตรกรชาวสวนยางท่านอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้นายบุญเสริม พิทยาวิริยะพันธ์ หนึ่งในครูยางและผู้ชนะเลิศการแข่งขันกรีดยาง กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกรีดยางในครั้งนี้ เนื่องจากตนเองกรีดยางพารามานานกว่า 20 ปี ผ่านเวทีการแข่งขันมามาก และเทคนิคในการกรีดยาง คือ ใช้ข้อมือ เท้า สายตาให้สัมพันธ์กัน กรีดให้สม่ำเสมอ ดูหน้ายาง ความเรียบของหน้ายาง ความลึกในการกรีด องศาการกรีด ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดทั้งหมดให้ตรงตามหลักวิชาการกรีดยางที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตที่ได้ในระยะยาวและคุณภาพของไม้ยางพารา
ซึ่งในการจัดสัมมนาครูยางในครั้งนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างยิ่ง เป็นการพัฒนาครูยางให้มีความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์ยางพาราในปัจจุบันและนำความรู้ที่ได้มานั้นถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรร่วมอาชีพ ภายในงานยังจัดการมอบรางวัลการแข่งขันกรีดยางประจำปี 2558 แก่ครูยางจังหวัดระยองที่ชนะการแข่งขันกรีดยาง โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันการกรีดยางระดับประเทศในงานยางพาราแห่งชาติในปีต่อไปอีกด้วย