กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--มจธ.
จากการจัดอันดับของ Times Higher Education Asia University Rankings หรือการจัดอันดับสุดยอดมหาวิทยาลัยแห่งเอเชีย ประจำปี 2015 โดยนิตยสาร Times Higher Education ประเทศอังกฤษ ผลการจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือ King Mongkut’s University of Technology Thonburi ติดอันดับที่ 55 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย โดย มจธ.ติด 100 อันดับแรก 3 ปีซ้อน และเป็นอันดับ 1 ในไทย ในปีนี้มีเพียง 2 มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้เกณฑ์ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียของ Times Higher Education Asia University Rankings ใช้เกณฑ์เดียวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก โดยมีตัวชี้วัดที่แสดงถึงคุณภาพทั้งหมด 13 ตัวชี้วัดโดยแบ่งได้เป็นกลุ่ม คือ ด้านคุณภาพการสอน 30 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพงานวิจัย 30 เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิง 30 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นสากล 7.5 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ มจธ. มีคะแนนที่โดดเด่นในด้านงานวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิง ที่เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพงานวิจัยที่ผลิตออกมาและได้รับการยอมรับไปอ้างอิงในทางวิชาการ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ถูกนำไปอ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ และมีความร่วมมือใกล้ชิดกับผู้ประกอบการภาคการผลิต เรายังคงเน้นงานวิจัยที่มีคุณค่าและความหมายต่อประเทศ โดยอธิการบดี มจธ.เชื่อมั่นว่าความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อนำพาประเทศออกจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมประเทศยังมีตัวเลขบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเฉลี่ยเพียงปีละ 35 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งตนเห็นว่าตัวเลขที่เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้คือ 50-55 เปอร์เซ็นต์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีการปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้มีหลักสูตรที่ก้าวหน้าและเป็นที่ต้องการมากขึ้น พัฒนากลุ่มวิจัยให้เข้มแข็ง มุ่งเป้าให้มีบัณฑิตป.โทและป.เอก เพื่อทำวิจัยในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว เน้นการสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างกลไกการผลิตบัณฑิตให้เข้มแข็งโดยเร่งส่งเสริมให้ออกไปทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม