ประเทศไทยจะสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรในองค์การรัฐอเมริกัน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 30, 1998 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 มิ.ย.--กต.
ตามที่ ฯพณฯ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นควรให้ประเทศไทยดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรในองค์การรัฐมอเมริกันหรือ OAS (Organization of American States) นั้น
กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ของไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการที่ไทยจะสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรในองค์การรัฐอเมริกัน ดังนี้
1. การเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในองค์การดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถติดตามท่าทีของประเทศสมาชิก OAS ในประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ ความมั่นคง ยาเสพติด สิทธิมนุษยชน ฯลฯ และจะสามารถติดตามพัฒนาการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความร่วมมือในด้านต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังเป็นวิถีทางหนึ่งในการกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับประเทศสมาชิก OAS
2. OAS คาดหวังที่จะได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศผุ้สังเกตการณ์ถาวรในโครงการพัฒนาต่างๆ ของ OAS ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้สังเกตการณ์ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ OAS
3. นอกจากการเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรใน OAS จะทำให้ไทยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง ฯลฯ ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาแล้ว ประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรยังมีสิทธิที่จะขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้อีกด้วย
4. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ได้แจ้งว่า เม็กซิโกและประเทศต่างๆ ในเขตอาณา ได้แก่ คอสตาริกา และปานามา พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรใน OAS อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา เป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ OAS ดังนั้น ไทยจึงต้องขอความสนับสนุนจากประเทศดังกล่าวเป็นหลัก
5. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย แจ้งว่า แคนาดา และบราซิล พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนไทยในการสมัครเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรใน OAS
หมายเหตุ OAS เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยกฎบัตรองค์กรรัฐอเมริกัน (กฎบัตรโบโกตา) ซึ่งลงนามที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2491 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา OAS มีบทบาทที่แข็งขันขึ้นนับตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากการที่สหรัฐ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำประเทศในทวีปอเมริกา (FTAA) ครั้งแรก ที่นครไมอามี สหรัฐอเมริกา
- มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคงในทวีปอเมริกา ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการแก้ปัญหาระหว่างประเทศสมาชิกโดยสันติวิธี จัดเตรียมแผนปฏิบัติการร่วมกันในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ และส่งเสริมพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม
- มีประเทศสมาชิก 35 ประเทศ รวมทุกประเทศในทวีปอเมริกา อย่างไรก็ตามรัฐบาลคิวบาถูกระงับการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ OAS ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2505 แต่ไม่ได้ถูกขับออกจากสมาชิกภาพ (รายชื่อประเทศสมาชิก เอกสารแนบ 1)
- มีประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร 39 ประเทศ และสหภาพยุโรป โดยเป็นประเทศในเอเชียใต้ 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา และประเทศในเอเชียตะวันออก 2 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังไม่มีสมาชิกอาเวียนใดเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวรหากการดำเนินการในเรื่องนี้สำเร็จลุล่วง ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ถาวร--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ