กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ในวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าเรื่องโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเพื่อขับเคลื่อนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างข้อกำหนดการจ้างและขอบเขตของงาน (TOR) ในการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและการจัดกรอบอัตรากำลัง เพื่อให้กระทรวงฯ มีโครงสร้างใหม่ที่เหมาะสม มีอัตรากำลังและคุณสมบัติสำหรับตำแหน่งต่างๆ ที่อดคล้องกับภารกิจหลักที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับความคืบหน้าคณะทำงาน 5 คณะ ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประกอบด้วย 1. คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband) ได้มีการเข้าพบผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อขอความเห็นต่อหลักการ NetCo และ TowerCo โดยหน่วยงานที่เข้าพบต่างเห็นชอบในหลักการและได้เสนอแนะด้านการบริหารจัดการเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำร่าง TOR ในการจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบสถาปัตยกรรมโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ
2. คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Commerce) การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล (Digital Entrepreneur) และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content) ได้มีการพิจารณาแผนด้านการส่งเสริม ได้แก่ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าแบบดิจิทัล โครงการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้า โครงการยกระดับ
ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ด้วย Cloud ERP ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลบันเทิงไทย และโครงการสร้างแบรนด์ไทยด้านดิจิทัลคอนเทนต์สู่ตลาดต่างประเทศ
3. คณะทำงานเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับโครงการนำร่อง(Showcase) เพื่อบูรณาการโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกันไม่เกิดความซ้ำซ้อนและให้เกิดประโยชน์สูงสุด 4. คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) ได้เห็นชอบร่างแผนการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลภาครัฐ และร่างมาตรฐานศูนย์ข้อมูลสำหรับการให้บริการภาครัฐ และหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะจัดทำประชาพิจารณ์ร่างมาตรฐานศูนย์ข้อมูลภาครัฐ และหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในลำดับต่อไป
และ 5. คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มีความคืบหน้าตามลำดับดังนี้ กลุ่มที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล
ส่วนบุคคล พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ พ.ร.ฎ.การจัดตั้งสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล่าสุดในส่วนของ พ.ร.ฎ.การจัดตั้งสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติว่าไม่ต้องแก้ไขร่าง และให้ส่งกลับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทบทวน
กลุ่มที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สถานะล่าสุดคือ กระทรวงฯ ยืนยันร่างกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ล่าสุดได้ตรวจร่างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการส่งให้หน่วยงานยืนยัน กลุ่มที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้แก่ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผ่านการพิจารณาจาก ครม. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 และกลุ่ม 4 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง
นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมดังกล่าว กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องเครื่องมือตรวจวัดเครือข่ายสถานีฝนอัตโนมัติ จำนวน 930 สถานี สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุขัดข้อง ทำให้การแสดงผลข้อมูลบนหน้าเว็บเพจไม่ตรงกับ Database เนื่องจากมีการใช้งานมานาน จึงต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 กรมบัญชีกลางได้แจ้งให้ส่วนราชการเริ่มปฏิบัติการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเผยแพร่ TOR บนเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาเพื่อรับคำวิจารณ์
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐในด้านต่างๆ จำนวน 5 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐ 2. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ 3. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ 4. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่นคง และ 5. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลด้านทรัพยากรและบริหารโครงสร้างภาครัฐ