ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจ 4 คนแรก "เมดอินไทยแลนด์"

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 1997 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ธ.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของหลักสูตรระดับปริญญาเอกสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยการริเริ่มของ ADSGM ซึ่งเป็นสมาคมคณบดีคณะบริหารธุรกิจในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจาก CIDA (Canadian International Development Agency) และทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยคานาดา หลักสูตรนี้ สร้างขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสามมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการต่าง ๆ วิธีการดำเนินงานที่สอดประสานรับกัน สามารถเอื้อประโยชน์ได้อย่างสูงสุดต่อผู้เรียนและหลักสูตร ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้และเป็นความภูมิใจยิ่งของคณาจารย์ผู้สอน และผู้มีส่วนร่วมทั้งหลาย ซึ่งสามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตรุ่นแรกสำเร็จในปี 2541 โดยสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 แก่ดุษฎีบัณฑิต 3 ท่าน ที่จะเข้ารับพระราชทานดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาฯ ประจำปี 2541 ได้แก่ ผศ.พัชราวลัย ชัยปาณี ในสาขาวิชาการเงิน วิทยานิพนธ์เรื่อง "ผลกระทบจากการพัฒนาทางการเงินต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : กรณีศึกษาประเทศไทย" อาจารย์พรอนงค์ บุษราตระกูล สาขาวิชาการเงิน วิทยานิพนธ์ เรื่อง "การบูรณาการของตลาดนานาชาติ การศึกษาของตลาดในประเทศไทย" ทั้งสองท่านรับราชการเป็นอาจารย์สังกัดภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และอาจารย์ศุภมิตร เตชะมนตรีกุล ในสาขาวิชาการบัญชี วิทยานิพนธ์เรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อมสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : แนวทาง และรูปแบบ" ท่านนี้รับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อีกเช่นกัน
ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ นายพงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล สาขาการเงิน รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัท โนโวเทลเทรดเดอร์ กรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการที่ปรึกษาบริษัท Siemens (ประเทศไทยจำกัด)
หลักสูตรนี้ได้เริ่มเปิดสอนในปี 2535 ทำการสอนใน 3 สาขาวิชาคือ การเงิน การบัญชี และธุรกิจระหว่างประเทศ โดยรุ่นแรกรับเข้าศึกษา 17 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้วข้างต้น และอีก 4 รุ่น ที่กำลังศึกษา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกมหาวิทยาลัยสังกัดและลงทะเบียนเป็นนิสิตหรือนักศึกษาในสถาบันนั้น แต่เมื่อทำวิทยานิพนธ์โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลักสังกัดสถาบันใด ผู้นั้นจะสำเร็จการศึกษาและรับปริญญาจากสถาบันนั้น
ในปีการศึกษา 2541 โครงการฯ นี้จะเปิดการเรียนการสอนในสาขาการตลาดขึ้นเป็นปีแรกและในอนาคตจะเปิดทำการสอนสาขาที่เหลืออีก 2 สาขาคือ การบริหารการปฏิบัติการและการผลิต และพฤติกรรมองค์การ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถและเป็นผู้นำทางวิชาการและมีความสามารถในการวิจัยสูง สมดังเป้าประสงค์อันแน่วแน่ของ 3 สถาบันที่จะผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจดังเช่นทุกวันนี้นับเป็นความหวังของคนไทยที่สามารถใฝ่หาความรู้ระดับสูงได้ โดยไม่ต้องไปผจญกับอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อแลกกับความรู้ในต่างแดน ดุษฎีบัญฑิต 4 ท่านนี้จึงเป็นความคาดหวังและทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าให้รุ่นน้องเจริญรอยตามและแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการผลิตปริญญาเอกในประเทศไทยนั้นมิได้เป็นรองใคร รวมทั้งยังประหยัดเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาลเป็นการช่วยเหลือชาติได้อีกส่วนหนึ่งด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ