กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ททท.
"ตั้งใจมานมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรนานแล้ว ทำไมสร้างพระอุโบสถแบบนี้ไม่สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร ให้ปรับปรุงแก้ไขพระอุโบสถเสียใหม่" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรวมถึงพระราชดำริเรื่องโรงเรียนและแหล่งเสื่อมโทรมหน้าพระอุโบสถ ให้แก้ไขให้สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร และเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสร็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหารพระอุโบสถหลังใหม่นี้ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535 ขณะนี้เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดบางส่วนภายในและจัดภูมิทัศน์บริเวณวัดเท่านั้น ในปีใหม่นี้ คณะกรรมการวัดได้เปิดพระอุโบสถหลังใหม่ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรองค์จริง (พระอุโบสถปิดมานานกว่า 16 ปี) เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์ - วันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 ถึง 15.30 น. สำหรับการนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรองค์จำลอง ณ วิหารหลังปัจจุบัน โดยเปิดทุกวัน วันเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่ เวลา 07.00 น. ถึง 17.00 น. และวันธรรมดา ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 16.30 น. นักท่องเที่ยวที่ขับรถมาเอง คณะกรรมการวัดได้จัดสถานที่จอดรถตรงข้ามพระอุโบสถรองรับได้ประมาณ 1,000 คัน พระอุโบสถหลังใหม่เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีขนาดกว้าง 44.50 เมตร และยาว 123.50 เมตร ลักษณะเป็นอาคารหลังคาประกอบเครื่องยอด ชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงอย่างเดียวกันกับพระวิหารเป็นอาคารมุขเด็จ ซึ่งเมื่อประกอบกันเข้าแล้ว จะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุขอย่างอาคารปราสาทแบบไทย กำแพงของพระอุโบสถหลังใหม่นี้ปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความงดงามมาก การเดินทาง รถยนต์ เดินทางได้ 4 เส้นทาง คือ 1. จากกรุงเทพ ฯ - มีนบุรี (ถนนหมายเลข 304) ระยะทาง 82 กิโลเมตร 2. จากกรุงเทพ ฯ - ถนนบางนา-ตราด (ถนนหมายเลข 34 เลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 314 สายบางปะกง - ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 100 กิโลเมตร 3. จากกรุงเทพ ฯ - ผ่านสมุทรปราการ - บางปะกง (ใช้ถนนหมายเลข 3 ต่อด้วยถนนหมายเลข 314) ระยะทาง 106 กิโลเมตร 4. จากกรุงเทพ ฯ - พัทยา (ใช้ถนนสายมอเตอร์เวย์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 314 บางปะกง - ฉะเชิงเทรา) รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพ ฯ มีรถประจำทางออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (ถนนกำแพงเพชร 2) และสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-ฉะเชิงเทรา สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2223-7010, 0-2223-7020 นางสาวเบญจวรรณ สุเนตรวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 กล่าวว่า หลังจากไหว้พระขอพรจากพระศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้วแล้ว หากมีเวลาเหลือขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตริมน้ำบางปะกง จุดลงเรือบริเวณท่าเรือหลังวัด เลือกชิมอาหารอร่อยที่ตลาดบ้านใหม่ สักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่วัดจีนประชาสโมสร ตอนเย็นเดินทางไปอำเภอบางคล้า ล่องเรือชมเกาะน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชมค้างคาวแม่ไก่ที่อาศัยอยู่บริเวณวัดโพธิ์ที่ออกหาอาหารยามค่ำคืน พร้อมรับประทานอาหารเย็นบนเรือชมหิ่งห้อยตัวน้อยบริเวณต้นลำพูริมฝั่ง เดินทางเข้าที่พักที่บางคล้าหรือที่ตัวเมืองแปดริ้ว เช้าวันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปจังหวัดสระแก้วไหว้ หลวงพ่อขาว ประดิษฐสถาน ณ วัดนครธรรม อำเภอวัฒนานคร ชาวพุทธที่เดินทางมามนัสการปิดทองขอพรจะได้รับความสำเร็จตามปรารถนา จากนั้นเดินทางกลับผ่านจังหวัดปราจีนบุรีแวะนมัสการ หลวงพ่ออภัยทาน - พระรัตนสุวรรณ เป็นพระพุทธรูปทองคำทรงเครื่องรัตนโกสินทร์ยุคต้น ชมอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน ยุโรปและเขมร จากนั้นเดินทางต่อไปยังนครนายก แวะนมัสการ หลวงพ่อเ ศียรนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบุญนาครักขิตาราม อำเภอเมืองนครนายก เป็นพระพุทธรูปสมัยพระร่วงและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวนครนายก ก่อนเดินทางถึงกรุงเทพ ฯ แวะชมศูนย์ไม้ดอกไม้ประดับ ที่คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เลือกซื้อไม้ถัก ไม้ดอก ไม้ล้อม ฯลฯ เป็นของฝากก่อนเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ? สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 0-3853-5891-2 ? สำนักงาน ททท. ภาคกลางเขต 8 โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284 หรือ www.tat8.com
แหล่งข่าว สำนักงาน ททท. ภาคกลางเขต 8
โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284
Web Site : ข่าวประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://www.tat.or.th/pr--จบ--