กรุงเทพ--22 ธ.ค.--กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 นายประกอบ สังข์ไต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในวาระหลังเข้ารับตำแหน่งและดูแลรับผิดชอบงานด้านประชาสงเคราะห์ ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการเน้นงานด้านการสงเคราะห์ คุ้มครอง พัฒนาเด็กและเยาวชนหลายด้าน
นายประกอบ เปิดเผยว่า สภาพสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กถูกทอดทิ้งเป็นกำพร้ามากขึ้น เรื่องนี้ตนเป็นห่วงในอนาคตของเด็กเหล่านี้ว่าจะขาดโอกาสและไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น หากกรมประชาสงเคราะห์มีนโยบายแน่ชัดในการส่งเสริมให้ครอบครัวผู้ใจบุญรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัวหรือประชาชนเหล่านั้นรับรู้และทราบถึงวิธีการติดต่อมากขึ้น
สำหรับการสำรวจเด็กเร่ร่อนในห้วงปี พ.ศ. 2537-2539 พบว่ามีผู้เร่ร่อนริมถนนสูงถึงประมาณ 10,000 คน ในปี 2538 มีผู้เร่ร่อนประมาณ 3,000 คน เป็นเด็กประมาณ 900 คน ปี 2539 พบผู้เร่ร่อนประมาณ 6,000 คน เป็นเด็กประมาณ 2,000 คน โดยทั้งหมดจะเป็นชาวต่างชาติในอัตราส่วนสูงกว่าชาวไทย ซึ่งจากสถิติพบว่าปี 2539 ผู้เร่ร่อนเป็นชาวต่างชาติถึง 64 เปอร์เซนต์ และปี 2540 เป็นชาวต่างชาติถึง 70 เปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขมรซึ่งมาขอทาน และชาวพม่าที่อพยพมาค้าแรงงานและจำนวนผู้เร่ร่อน เด็กเร่ร่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่มีการรณรงค์ให้เป็นปีท่องเที่ยว หรืออะเมซิ่งไทยแลนด์อย่างมาก และต่อตัวเด็กเองด้วย เพราะจะทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน ด้วยข้อเท็จจริงว่าเด็กรายหนึ่ง ๆ สามารถหารายได้จากการเร่ร่อนได้รูปแบบต่าง ๆ สูงถึงวันละประมาณ 500 บาท จึงถูกชักชวนหรือบังคับให้มาทำการเช่นนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามทางกรมประชาสงเคราะห์และภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้ร่วมกันหาแนวทางให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา โดยมีทีมงานต่าง ๆ ถึง 16 องค์กร ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้เร่ร่อนได้ถึงราวปีละเฉลี่ย 2,500 ถึง 6,000 คน ที่หมุนเวียนเข้าไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งการที่กรมประชาสงเคราะห์และสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งศูนย์ที่มีลักษณะงานประสานการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้าย ทารุณ ถูกบังคับบริการทางเพศเป็นการเฉพาะ ก็สามารถช่วยเหลือได้ราว ๆ ปีละ 2,000 กว่าราย
ส่วนแนวทางการปราบปรามการใช้เด็กในด้านขอทาน หรือทำนองนี้ที่แน่ชัดก็คือการมีพระราชบัญญัติที่ให้ความเข้มในการตรวจสอบ ปราบปราม รวมทั้งแกะรอยไปถึงต้นตอกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ซึ่งมีการปราบปรามไปนับจำนวนกว่า 38 แก๊งแล้ว รวมทั้งยังมีการเก็บรวบรวมรายละเอียดข้อมูลด้านนี้ไว้พร้อมสรรพ เพื่อประมวลและนำเสนอเป็นแนวนโยบายที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไปในที่สุด โดยในระหว่างนี้หากมีการตรวจจับพบเด็กเร่ร่อนไทยก็จะส่งยังสถานพักฟื้นต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นเด็กเร่ร่อน-ผู้เร่ร่อนชาวต่างชาติจะได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมตำรวจ จัดส่งประเทศของเขาเหล่านั้นต่อไป--จบ--