กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand: a Regional Trading and Modern Industry Hub” เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ)และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มียื่นคำขอแล้วรวม 18 โครงการ มั่นใจยุคเปลี่ยนนโยบายบีโอไอ จะสามารถดึงดูดโครงการลงทุนที่มีคุณค่ามากกว่าปริมาณ ส่วนกิจการเป้าหมายอื่นๆ ก็ทยอยยื่นขอลงทุนตามคาด
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการชี้แจงรายละเอียดในการส่งเสริมการลงทุนกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) แก่นักลงทุนต่างชาติ บีโอไอจึงกำหนดให้มีการจัดงานสัมมนา “Thailand: a Regional Trading and Modern Industry Hub” ในวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2558 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ถึง 18.00 น. ณ เซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ แบงคอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งขณะนี้มีนักธุรกิจนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว 700 คน
การสัมมนาเริ่มด้วยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ“Thailand: a Regional Trading and Modern Industry Hub”โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเป็นการอภิปรายร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บีโอไอ กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการจัดหางาน ในหัวข้อ การส่งเสริมกิจการ IHQ และ ITC ในประเทศไทย
การส่งเสริมกิจการ IHQ และ ITC ในประเทศไทย มิได้มีเพียงบีโอไอเท่านั้นที่ให้การส่งเสริม แต่ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ กรมสรรพากรให้การส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่สนับสนุนในการตั้งศูนย์บริหารเงิน หรือ Treasury Center รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือการสนับสนุนและจัดหาบุคลากรโดยกรมการจัดหางาน งานสัมมนาครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดแบบบูรณาการแก่นักลงทุน
สำหรับกิจการ IHQ และ ITC ถือเป็นส่วนหนึ่งในกิจการเป้าหมายของรัฐบาลและบีโอไอที่จะมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย แม้มูลค่าเงินลงทุนของกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ จะไม่สูงนัก แต่มูลค่าจากการดำเนินธุรกิจกลับค่อนข้างสูงและเป็นไปอย่างยาวนานต่อเนื่อง เช่น มูลค่าจากการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ และสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เป็นต้น
“หลังจากการเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุน เราได้เห็นการยื่นขอรับส่งเสริมในกิจการเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐทุกๆ เดือน ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ดังนั้น บีโอไอจะให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมการลงทุนที่เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าต่อประเทศเป็นหลัก ส่วนจำนวนคำขอรับส่งเสริม และมูลค่าเงินลงทุน ถือเป็นเรื่องรองลงมา โดย 5 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับส่งเสริมจากกิจการเป้าหมายรวมจำนวน 188 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 28,940 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของคำขอทั้งหมดในช่วง 5 เดือน” นางหิรัญญากล่าว
สำหรับกิจการเป้าหมายที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤษภาคม 2558) ได้แก่ กิจการ IHQ จำนวน 4 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 149 ล้านบาท กิจการ ITC จำนวน 14 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 177 ล้านบาท กิจการภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล มีคำขอรับการส่งเสริม 57 โครงการ เงินลงทุน 1,033 ล้านบาท เช่น Cloud Service กิจการซอฟต์แวร์ กิจการ Digital Printing
กิจการภายใต้นโยบายส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีคำขอรับการส่งเสริม 26 โครงการ เงินลงทุน 3,942 ล้านบาท เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
กิจการภายใต้นโยบายการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร มีคำขอรับการส่งเสริม 13 โครงการ เงินลงทุน 719 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร กิจการภายใต้นโยบายการผลิตไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคำขอรับการส่งเสริม 44 โครงการ เงินลงทุน 15,198 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF)กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ