กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 63.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 61.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่59.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักเฉลี่ย 15 วันแรก ของเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยแบ่งชนิดการส่งออกเป็น Basrah Light และ Basrah Heavy
· แหล่งข่าวในบริษัทนายหน้าจัดหาเรือขนส่งรายงานอิหร่านเก็บน้ำมันดิบในเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ (Very Large Crude Carrier: VLCC) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อย่างน้อย 17 ลำ เป็นปริมาณประมาณ 40 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่ามีน้ำมันดิบจากไนจีเรียและน้ำมันดิบชนิดเบาอื่นๆ ปริมาณรวมประมาณ 10 ล้านบาร์เรล ถูกเก็บในเรือนอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก เนื่องจากหาผู้ซื้อไม่ได้
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 มิ.ย. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 19,729 สัญญา มาอยู่ที่ 241,302 สัญญา
· ข้อมูลจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ Blackrock รายงานว่านักลงทุนลดการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงาน (Energy Exchange-Traded Products หรือ ETPs) โดยเฉพาะในตลาดน้ำมันเพราะยังไม่มีสัญญาณว่าอุปทานจะลดลง โดยเดือน เม.ย. 58 นักลงทุนดึงเงินจาก ETPs 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
· ZEW (Center of Economic Research) รายงานความเชื่อมั่นของนักลงทุน (Investor Sentiment) ของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 10.4 จุด อยู่ที่ระดับ 31.5 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Bloomberg คาดการณ์อยู่ที่ 37.3 จุด เนื่องจากความกังวลปัญหาหนี้เสียของกรีซจะส่งผลกระทบต่อเยอรมนี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (Oil Rig) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 635 แท่น ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 27
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 467.9 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ไว้ที่ 1.7 ล้านบาร์เรล
· การประชุม FOMC ยังคงไม่มีความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนาง Janet Yellen ให้ความเห็นว่าจะพิจารณาจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 5.5% โดยนักวิเคราะห์ทางการเงินคาดว่า FED จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.58
· กรมศุลกากรของเกาหลีใต้เผยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ในเดือน พ.ค. 58 โดยอยู่ที่ 4.73 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ผู้บริหารของบริษัท HIS นาย Victor Shum กล่าวซาอุดีอาระเบียพยายามที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดซึ่งมุ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าหลักในเอเชีย โดยมีความต้องการใช้น้ำมันดิบคิดเป็น สัดส่วนมากถึง 10% ของความต้องการในภูมิภาคทั้งหมด
· สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศสคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.2% ขณะที่การเติบโตของปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.2% ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานจะทรงตัวอยู่ที่ 10.4%
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบลดลงในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์วิกฤติหนี้กรีซ โดยผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์กรีซแห่ถอนเงิน 4.2 พันล้านยูโร ในสัปดาห์ก่อน ประกอบกับผู้ค้าเทขายสัญญาน้ำมันเพื่อทำกำไรหลังจากราคาปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 3 วันก่อนหน้า ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณกลับมาดำเนินการผลิต แม้จำนวนแท่นขุดเจาะโดยรวมทั้งประเทศจะลดลงก็ตาม โดยแท่นขุดเจาะในบริเวณแหล่ง Permian และ Bakken ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของ shale oil เพิ่มขึ้น 1 แท่น มาอยู่ที่ 232แท่น ทั้งนี้ให้จับตามองผลการประชุมฉุกเฉินของผู้นำประเทศยุโรปในวันจันทร์นี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือกรีซจากภาวะล้มละลาย สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 61.65-65.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 57.5-61.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 59.5-63.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Maoming Petrochemical จากจีน หนึ่งในบริษัทลูกของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Sinopec เผยแผนที่จะส่งออกน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 170,000 บาร์เรล ในเดือน มิ.ย. 58 คงที่จาก เดือนก่อนหน้า อนึ่งในเดือน พ.ค. 58 จีนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเบนซินสุทธิ ประกอบกับ โรงกลั่น Kashima (กำลังการกลั่น 252,500 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JX Nippon Oil & Energy มีแผนที่จะกลับมาเปิดหน่วย CDU No1. (189,500 บาร์เรลต่อวัน) และ FCC (35,500 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงต้นเดือน ก.ค. 58 หลังจากปิดดำเนินการเนื่องจากเหตุไฟไหม้เมื่อปลายเดือน พ.ค. 58 และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ใน Amsterdam-Rotterdam- Antwerp(ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้น600,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 6.98 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.84 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.68 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามกรมศุลกากรเกาหลีใต้รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 58 ลดลง ลดลงจากเดือนก่อน 30.2% มาอยูที่ 3.82 ล้านบาร์เรล ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 55 อนึ่ง เกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันเบนซินอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ อีกทั้ง Reuters รายงาน IOC ของอินเดียเข้าซื้อน้ำมันเบนซิน ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยตั้งแต่เดือน ก.พ. 58 มีปริมาณนำเข้ารวมกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ มี.ค.- มิ.ย. 58 เนื่องจากความต้องการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้น และโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุง ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินในญี่ปุ่นที่รายงานโดย Petroleum Association of Japan (PAJ) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.26 ล้านบาร์เรล หรือ 2.25% มาอยู่ที่ 11.09 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นกอปรกับปริมาณการผลิตที่ลดลง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.10-86.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากReuters รายงานบริษัท Unipec ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล ในเอเชียเนื่องจากกำลังการกลั่นในจีนเติบโตขึ้น ขณะที่อุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และมีข่าวโรงกลั่น Kashima (252,500 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JX Nippon Oil & Energy มีแผนที่จะกลับมาเปิดหน่วย CDU No1. (189,500 บาร์เรลต่อวัน) และ FCC (35,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้นเดือน ก.ค.58 หลังจากปิดดำเนินการเนื่องจากเหตุไฟไหม้เมื่อปลายเดือน พ.ค. 58 ประกอบ Essar Oil ของอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลชนิด Vacuum Gasoil จาก ปริมาณ 500,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วง 8-12 ก.ค. 58 และ Petronas ของมาเลเซียขายน้ำมันดีเซลปริมาณกำมะถัน 0.01%S ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วง 2-4 ก.ค. 58 อีกทั้ง PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลลด ในยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 940,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 22.46 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Vietnam National Petroleum Import-Export Corp. (Petrolimex) ของเวียดนามซื้อน้ำมันดีเซลปริมาณกำมะถัน 0.05 % ปริมาณรวม 720,000 บาร์เรล ส่งมอบ 1-5 ก.ค. 58 ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.32 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.12 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5เดือน สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.30-76.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล