กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ทั่วโลกโตขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ชี้ภาคธุรกิจนิ่งนอนใจกับการป้องกันภัย ด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เร่งผลักดันขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ Interpol Thailand และ ThaiCERT จัดเสวนา (Open Forum) ในหัวข้อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กับความร่วมมือระหว่างประเทศ” เพื่อนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ตลอดจนนำเสนอกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ข้ามพรมแดน
ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดช่องโหว่ในการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มากขึ้นตาม ดังนั้นจึงเห็นว่าภาครัฐต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนทั่วไปในเรื่องการรับมือกับ Cyber Crime อยากให้ทุกคนตระหนักว่า ภัยคุกคามเกิดขึ้นได้จากทั่วโลก ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากต่างประเทศ ดังนั้น น่าจะมีการแชร์ประสบการณ์ภัยคุกคาม เพื่อร่วมกันป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการร่วมสร้างกระบวนการเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น
ในขณะที่ พ.ต.อ. ดร. ชิตพล กาญจนกิจ ผู้กำกับการฝ่ายสนธิสัญญาและกฎหมาย กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสริมว่า อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะการฉ้อโกงและหมิ่นประมาท ซึ่งยอมรับว่าการจับกุมตัวอาชญากรคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะข้ามชาติ คืออาชญากรกระทำความผิดในต่างประเทศ แต่ผลของความเสียหายปรากฏภายในประเทศ
นอกจากนี้ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติยังถูกจ้างวานให้สนับสนุนการกระทำความผิดทางอาญาหลายประเภท เช่น ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ รวมถึงขโมยข้อมูลบริษัทคู่แข่ง ซึ่งจากสถิติพบว่าบริษัท 1 ใน 4 ทั่วโลก ถูกล้วงข้อมูล ซึ่งทำให้แต่ละบริษัทต้องจ่ายค่าความเสียหายหลักล้านบาท