กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ต้องยอมรับว่า การออกแบบงานก่อสร้างอาคารในประเทศไทย นอกจากจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยแล้วยังให้ความสำคัญกับความสะดวก รวดเร็ว และต้นทุนต่ำในสัดส่วนพอๆ กัน แต่ในระยะ 20- 30 ปีที่ผ่านมา การก่อสร้างอาคารในประเทศไทยมีความนิยมการก่อสร้างอาคารในระบบพื้นคอนกรีตแบบไม่มีคานจำนวนมาก โดยเฉพาะอาคารในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้จะสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการก่อสร้าง แต่นักวิชาการด้านวิศวกรรมพบว่า งานก่อสร้างในระบบแบบนี้ หากอาคารบางอาคารที่มีรูปแบบไม่เอื้อต่อการรับแรงแผ่นดินไหว เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว อาจจะมีความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดกับอาคารและทรัพย์สินมากกว่าการก่อสร้างในระบบทั่วไป
รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)และกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแรงลมและแผ่นดินไหว ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า รูปแบบการก่อสร้างด้วยระบบพื้นโพสเทนชั่นหรือพื้นไร้คานในประเทศไทยเป็นที่นิยมมากและอาจจะมากที่สุดในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้ “หากตั้งคำถามว่าอาคารประเภทนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ก็ต้องตอบว่าปลอดภัยหากมีการออกแบบถูกต้อง ก่อสร้างถูกวิธี หากแต่ในสถานการณ์แผ่นดินไหวอาคารที่ถูกก่อสร้างในระบบแบบนี้และไม่ได้มีการออกแบบให้รับแรงจากแผ่นดินไหวให้ถูกต้อง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย” นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเพื่อศึกษาความสามารถของหมุดรับแรงเฉือนสำหรับพื้นโพสเทนชั่นในการเพิ่มความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวของพื้นอาคาร
“จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงราย เนปาล หรือที่ใดก็ตามถ้าเราอยู่ภายนอกอาคาร ก็จะไม่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมากนัก เราจะเห็นว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการที่อาศัยในอาคารที่ก่อสร้างไม่ปลอดภัยและอาคารพังทลายลง ในประเทศไทยเราอาจจะไม่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเพราะประเทศไทยไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่รุนแรงบ่อยนัก อย่างไรก็ดีในระยะหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีการกำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหว มีการปรับปรุงอาคารรองรับแผ่นดินไหว มีการศึกษาวิจัยมากขึ้น ”
รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ในต่างประเทศ มีการผลิตหมุดสำหรับใส่ในพื้นโพสเทนชั่น เพื่อให้ก่อสร้างได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวของอาคารไร้คาน แต่ในต่างประเทศมักจะใช้วิธีการผลิตที่มีต้นทุนสูง ทำให้เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยก็จะทำให้อุปกรณ์ตัวนี้มีราคาแพง ประกอบกับมีผู้ประกอบการของไทยเล็งเห็นความสำคัญและต้องการลงทุนผลิตหมุดรองรับพื้นโพสเทนชั่น จึงได้ร่วมกับ มจธ. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำงานวิจัย ว่าหากเปลี่ยนวิธีการผลิตหมุดตัวนี้ในรูปแบบอื่นเช่นเป็นการเชื่อมชิ้นส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้วคุณสมบัติในการรับแรงจากแผ่นดินไหวจะเป็นอย่างไร
“ห้องแลปของภาควิชาวิศวกรรมโยธาของเราก็ทำเรื่องทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เสริมกำลังอาคาร อุปกรณ์สลายพลังงานจากการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งสำหรับอาคารเก่าและอาคารใหม่ เพื่อป้องกันแรงกระทำจากแผ่นดินไหวอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมและทำการทดลองหมุดตัวนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา ในห้องปฏิบัติการเราดูว่าอุปกรณ์สามารถรับแรงกระทำจากแผ่นดินได้ดีหรือไม่ ดูว่าการก่อสร้างแบบเดียวกันแบบเสริมหมุดและไม่เสริมหมุด จะมีความสามารถป้องกันอาคารจากแรงกระทำของแผ่นดินไหวได้แตกต่างกันหรือไม่”
รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ล่าสุดงานวิจัยอยู่ในขั้นตอนที่ทำการทดสอบแล้ว และพบว่า หมุดรับแรงเฉือน สามารถเพิ่มความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวของพื้นได้ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่องานวิจัยชิ้นนี้เสร็จเรียบร้อยก็สามารถนำไปเป็นข้อมูลให้กับเจ้าของอาคาร และผู้รับเหมาในการใช้อุปกรณ์นี้กับอาคารในประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำอุปกรณ์เสริมอาคารไปใช้เพื่อป้องกันหรือลดแรงกระทำจากแผ่นดินไหว จะต้องมีวิศวกรออกแบบติดตั้งอย่างถูกต้องคำนวณสัดส่วนอาคาร จุดติดตั้ง จำนวนหมุด อย่างละเอียดและมีความเข้าใจอุปกรณ์เป็นอย่างดี บุคคลทั่วไปไม่สามารถนำอุปกรณ์ไปใช้ได้.