กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
กรมบัญชีกลาง หนุนสร้างความรู้ ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมสู่การพัฒนารหัสการตรวจ Lab เพื่อการเบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการที่ได้มาตรฐานทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศ
หลังจาก ศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีการพัฒนามาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ LOINC (Logical Observation Identifiers Names and Codes) มาเป็นระยะ กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จึงสนับสนุนให้จัดการประชุม “ทิศทางและการพัฒนามาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ LOINC สำหรับการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายแนวคิดการนำชื่อและรหัส LOINC ไปใช้ในรหัสห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากนักเทคนิคการแพทย์ ตัวแทนหน่วยบริการ กรมบัญชีกลาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง กว่า 130 คน ตลอดจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และนำไปสู่การเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน นักวิชาการ ศมสท. กล่าวว่า LOINC เป็นรหัสมาตรฐานฯ ระดับนานาชาติที่ควรนำมาใช้ในระบบข้อมูลสุขภาพไทย เนื่องจากมีข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 1) มีความเป็นสากลครอบคลุมการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีอยู่เกือบทั้งหมด และออกแบบวิธีการกำหนดรหัสให้สามารถรองรับเทคโนโลยีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต 2) เป็นรหัสมาตรฐานที่มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง และสามารถเชื่อมโยงกับระบบมาตรฐานสากลได้ รวมทั้งมีกระบวนการบำรุงรักษาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีระบบสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการขยายเครือข่ายการร่วมพัฒนาออกไปในหลายประเทศ 3) มีโปรแกรม mapping ที่เรียกว่า RELMA (Regenstrief LOINC Mapping Assistant) 4) สามาถนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ แต่เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับรหัส LOINC ยังเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ยังไม่มีในประเทศไทย
ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำแนวทางการนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้ โดยการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ อย่างเช่นนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อจะได้นำไปกำหนดเป็นข้อเสนอการพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศ และแนวทางในการจัดทำมาตรฐานรหัสทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน ทั้งนี้ข้อมูลสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นรหัสการใช้ยา รหัสทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ฯลฯ ควรเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน เพื่อจะได้สามารถนำไปวางแผนเรื่องการส่งเสริม ดูแล ป้องกันโรค และเรื่องอื่นๆ ด้านสุขภาพได้อีกด้วย
น.ส.วิริยา พูนคำ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเบิกจ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งการจัดการเรื่องดังกล่าวต้องมีการพัฒนาและติดตามระบบอยู่เสมอ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณของประเทศเป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสมมากที่สุด ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันการเบิกจ่ายฯ ที่ส่งมายังกรมบัญชีกลางยังมีความแตกต่างกันอยู่ในแต่ละสถานพยาบาล
“หากมีการพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพให้มีมาตรฐาน ครบถ้วนและถูกต้อง ก็จะเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นที่สำคัญในการวิเคราะห์ และวางแผนงบประมาณ รวมไปถึงนโยบายเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลทุกประเภท หรือแม้แต่สถานพยาบาลเองก็จะสามารถนำข้อมูลไปประเมินการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้ ถ้า ศมสท.ได้พัฒนามาตรฐานและเตรียมความพร้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว กรมบัญชีกลางจะมีการประกาศใช้รหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างเป็นทางการต่อไป” น.ส.วิริยา กล่าว
ด้าน นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการ ศมสท. และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การมีมาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จะทำให้แต่ละสถานพยาบาลสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และนำข้อมูลมาบูรณาการกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น รวมไปถึงแพทย์ก็จะสามารถใช้ข้อมูลที่มีมาตรฐานในการตัดสินใจด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งการพัฒนาและขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในครั้งนี้ มีกรมบัญชีกลางเป็นแม่แรงใหญ่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติ หากแต่การพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ต้องมีการทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น ศมสท.จึงจัดให้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนามาตรฐานฯ มาโดยตลอด และในระยะเวลาอันใกล้นี้ กรมบัญชีกลางก็จะรับไปขับเคลื่อนต่อในเชิงนโยบายที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของประเทศ