กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ชูศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย พร้อมช่วยหนุนสนับสนุนความมั่งคงด้านพลังงานไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ให้แก่ภาครัฐ โดยมีวัตถุดิบกากอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายสูงถึงปีละ 18 ล้านตัน สามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงปีละ 1,500 เมกะวัตต์ แถมช่วยลดปัญหาการกำจัดของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสอดรับนโยบายโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจด้วย
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 หรือ แผนPDP 2015 ซึ่งเป็นแผนจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว ที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีที่ภาครัฐมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำตาลในแต่ละปีมีปริมาณอ้อยเกินกว่า 100 ล้านตัน โดยมีกากอ้อยที่เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 18 ล้านตัน สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 1,500 เมกะวัตต์ แต่มีโครงการที่จำหน่ายไฟฟ้าได้ 82 โครงการ คิดเป็นปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาเพียง 800 กว่าเมกะวัตต์
“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนผลักดันแผน พัฒนากำลังไฟฟ้า PDP 2015 ของภาครัฐให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงมีกากอ้อยที่นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้ามากเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ด้านพลังงานไฟฟ้าที่ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี สามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ และมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ยังช่วยตอบโจทย์ตามหลักเกณฑ์แผนพัฒนาไฟฟ้า PDP 2015 ด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งการปลูกอ้อยเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ ซึ่งผลผลิตทุกตันอ้อยทางโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมรับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด ขณะที่การกำหนดราคาอ้อยมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแลให้ได้ราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตของเกษตรกรด้วย