กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น
นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน งานลงทุนในตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการลงทุน มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผล ครั้งที่ 1 /2558 จำนวน2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด KTAM SET50 ETF Tracker ( ESET50 ) และกองทุนเปิดดับเบิลยูไอเอสอี เคแทม ซีเอสไอ 300 ไชน่า แทร็กเกอร์ (CHINA) โดย กองทุนESET50 จ่ายเงินปันผลในอัตราหน่วยลงทุนละ0.20 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี วันที่ 1 มีนาคม 2558 - 29 กุมภาพันธ์ 2559 ผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ส่วนกองทุนCHINA จ่ายเงินปันผล ในอัตรา 1.50 บาทต่อหน่วย สำหรับรอบบัญชี วันที่ 1 ธันวาคม 2557 - 30 พฤศจิกายน 2558 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 โดยทั้ง 2 กองทุน ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558
ทั้งนี้ กองทุน ESET50 มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET 50 โดยจุดเด่นของกองทุน ESET 50 นอกจากผู้ลงทุนจะมีโอกาสกระจายการลงทุนในหุ้นชั้นนำ 50 บริษัทของไทยแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนตามการเคลื่อนไหวของดัชนี SET 50 อีกด้วย โดยผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2558 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน AIMC ย้อนหลัง 6 เดือน อยู่ที่ 0.24 % ย้อนหลัง 9 เดือน -4.29 % ย้อนหลัง1 ปี อยู่ที่ 3.94 % และ YTD อยู่ที่ 0.86 % ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน ย้อนหลัง 6 เดือน อยู่ที่ -1.49 % ย้อนหลัง 9 เดือน อยู่ที่ -6.04 % ย้อนหลัง1 ปี อยู่ที่ 1.34 % และ YTD อยู่ที่ -0.86 %
ส่วนกองทุน CHINA เข้าลงทุนในกองทุนรวมหลัก W.I.S.E – CSI 300 China Tracker ที่มุ่งสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี CSI300 โดยกระจายการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และซื้อขายสกุงเงินหยวน (A-Share ) ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับดัชนี โดยผลตอบแทนย้อนหลัง ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ย้อนหลัง 6 เดือน อยู่ที่ 61.88 % ย้อนหลัง 9 เดือน อยู่ที่ 100.37 % ย้อนหลัง1 ปี อยู่ที่ 126.20 % และ YTD อยู่ที่ 56.66 % ส่วนเกณฑ์มาตรฐาน ย้อนหลัง6 เดือน อยู่ที่ 62.49 % ย้อนหลัง 9 เดือนอยู่ที่ 101.90 % ย้อนหลัง1 ปี อยู่ที่ 128.71 % และ YTD อยู่ที่ 56.93 %
นายวีระ กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการลงทุนในจีน เศรษฐกิจจีนโดยภาพรวมยังขยายตัวในระดับสูงแม้ว่าจะมีทิศทางลดลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7.0% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า แม้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ทางการจีนได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเริ่มจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และยังมีมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรอง (RRR) การตั้งโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะต้องมีการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหา Shadow Banking ที่อาจกลับมาสร้างความกังวลได้อีกรอบ
ส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นจีนอาจจะเริ่มมีความผันผวนในระยะสั้นมากขึ้น เนื่องจากดัชนีปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ P/E Ratio ของดัชนี A-Share อยู่ที่ระดับ 19.9 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ในขณะที่หุ้นขนาดเล็กบางส่วนมีการซื้อขายที่ระดับ P/E สูงมากกว่า 70-80 เท่า นอกจากนั้น การซื้อขายโดยใช้สินเชื่อ (Margin Trade) ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7.9% ของ Free Float Market Cap ซึ่งถือว่ามีระดับสูงที่สุดในโลก ทำให้มีความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจจะเข้ามาควบคุมการซื้อขายมากขึ้นจากที่เคยทำไปแล้วเมื่อตอนต้นปี แต่ในระยะกลางยังคงน่าลงทุนจากแนวโน้มที่รัฐบาลจีนยังคงมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การคลังต่อไป ในขณะที่การปฏิรูปที่มีเป้าหมายให้การบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นแทนการเน้นโยบายการส่งออกและการลงทุน จะทำให้จีนมีความสมดุลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น หากตลาดหุ้นจีนยังคงมีการปรับตัวลงในช่วงนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเข้าสะสมเพื่อการลงทุน
นอกจากนี้ กองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปียน อิควิตี้ ฟันด์ ( KT-EURO) นับเป็นอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจ ในช่วงเวลานี้ ซึ่งกองทุนจะเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco Continental European Small Cap Equity Fund เนื่องจาก ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลัง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะถูกแรงกดดันจากปัญหาเรื่องกรีซ ซึ่งยังคงมีความเป็นไปได้ที่กรีซอาจผิดชำระหนี้ในสื้นเดือนนี้ แต่หากมีความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาของกรีซก็จะทำให้ตลาดคลายความกังวลไปได้ ในขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัวทีแท้จริง โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาได้แก่การบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่เงินเฟ้อเริ่มกลับมาเป็นบวกซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายของบริษัทจดทะบียน และยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ QE ซึ่งจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน 2559
ส่วนปัจจัยบวกในระยะยาว ได้แก่ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับครัวเรือนและบริษัทเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำนับตั้งแต่วิกฤตยุโรปปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย และการที่ประเทศที่เคยมีปัญหาด้านหนี้สินอย่างอิตาลีและสเปนได้เริ่มดำเนินการแผนปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็น่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนมีความแข็งแกร่งและยังยืนมากยิ่งขึ้น ตลาดหุ้นมีการซื้อขายที่ระดับ P/E ประมาณ 16-17 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่อยู่ประมาณ 14-15 เท่า แต่ Earning ของบริษัทฯในยุโรปยังคงมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจในยุโรปผ่านระดับต่ำสุดไปแล้วรวมถึงการอ่อนค่าของเงินยูโร จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน