กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวันภาษาไทย ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย จึงเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนความร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
รมว.วธ. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมในการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติที่กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการเป็นประจำทุกปี คือ การประกวดเพลง (เพชรในเพลง) โดยคัดเลือกบุคคลในวงการเพลง อาทิ นักแต่งเพลงหรือศิลปินนักร้อง เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลง ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย และสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพทั้งการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง และการจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ผดุงสร้างสรรค์และถ่ายทอดการใช้ภาษาไทยเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น และผู้มีคุณูปกรต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งจะมีการมอบรางวัล ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายทางวิชาการ หัวข้อ “ไท-ไทย : สายสัมพันธ์ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงให้เห็นถึงภาษาตระกูลไท อาทิ ผู้ที่ใช้ภาษาไท ในแคว้นอัสสัม-อินเดีย , ชาวไทยใหญ่-พม่า ไทย , ไทยดำ-เวียดนาม และลาว เพื่อเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมในอาเซียน , การจัดพิมพ์หนังสือ “นรางกุโรวาท” ผลงานพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบไทยวิถีเทียบกับหลักสากลของประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย , การจัดค่ายภาษาไทย, การประกวดเรียงความ หัวข้อ “หนังสือเล่มโปรดของฉัน” ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช , จัดนิทรรศการ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับภาษาไทย” ,การสัมมนาการใช้ภาษาไทยของเด็กและเยาวชน , การจัดแสดงลิเกทรงเครื่อง เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน “พลายงามอาสา” ทั้งนี้จากการประฃุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.)กรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นว่าปัญหาของการใช้ภาษาไทยของเด็กและเยาวชน จะพบปัญหาเรื่อง การอ่าน การเขียน และการย่อความจึงควรรณรงค์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุอย่างจริงจัง และกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งจัดสัมมนาการใช้ภาษาไทยของสื่อมวลชน ครูผู้สอนภาษาไทย และสัมมนาเรื่องภาษาไทยถิ่น ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง-จังหวัดเพชรบุรี ภาคใต้-จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออก-จังหวัดจันทบุรี และภาคเหนือ-จังหวัดลำปาง เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทย ที่สำคัญจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ภาษาไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างเช่น สถาบัญสอนภาษาเกอเธ่ของเยอรมัน เอยูเอของสหรัฐอเมริกา อาลิอองฟรองแซดของฝรั่งเศส ขณะนี้ ภาษาเกาหลีมีคนใช้มากขึ้นจากอันดับที่ 18 เป็นอันดับที่13 อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติจากประเทศอาเซียนมาทำงานจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้กับคนเหล่านี้ ส่วนในประเทศอื่นๆจะมีแนวทางให้ใช้วัดไทยในต่างประเทศเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่การใช้ภาษาไทยให้กับคนไทยในต่างประเทศและชาวต่างชาติะ