กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--Worklink Da Agency
สนามกีฬาของชุมชนรกร้าง กลายเป็นแหล่งมั่วสุมมานานนับสิบปี เป็นหน้าที่ของ "ใคร" ต้องดูแล ? ต่อคำถามนี้ คนส่วนใหญ่มักจะชี้นิ้วไปที่ อบต.หรือผู้นำชุมชนว่าทำไมถึงปล่อยปละละเลย บ้างก็ว่าเป็นหน้าที่ผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยวอย่ามายุ่ง แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครมองว่าเป็นหน้าที่ของตัวลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ได้เลยสักคน จนหญ้าท่วมสูงเป็นแหล่งเสพยา และมีคนลอบเข้ามาทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ... ยังดีที่ได้ “มือน้อยๆ ของเยาวชน” ที่มองเห็นปัญหา อาสาลุกขึ้นมาแก้ไขพลิกฟื้นให้สนามกีฬากลับมาใช้งานได้อย่างยั่งยืน และสร้างความสุขให้แก่คนปลายโพงพางได้อีกครั้ง
5 หนุ่มวัยรุ่น - วัยซน กลุ่มเยาวชนปลายโพงพาง ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วย อ้น – นริศ เลิศวุฒิวิไล, อ๊อฟ- นฤสรณ์ พยนต์ศิริ, พีท – พิริยะพงศ์ พงษ์พานิช, ณัฐ – ณัฐวัฒน์ วอนไวย และ ต้า – สุภัทร มณีศรีขำ เล่าว่า สนามกีฬาแห่งนี้อยู่คู่ชุมชนปลายโพงพางของพวกเขามานานแล้ว แต่มักถูกปล่อยทิ้งร้าง ขาดคนดูแล ที่ผ่านมาคนในชุมชนตลอดจนพวกตนอยากมาออกกำลังกายก็ไม่สามารถทำได้เพราะหญ้าขึ้นสูง มีขยะ ถุงยา และอุปกรณ์เสพยาถูกทิ้งไปทั่ว มีบ้างบางคราวที่พวกตนลงแรงช่วยกันตัดหญ้าเป็นหย่อมเล็กๆ ที่มุมสนาม พอเตะบอลได้เป็นครั้งๆ
“พวกผมชอบเตะบอล ถ้าไม่ได้เตะบอล วัยรุ่นอย่างพวกผมก็จะไปเล่นเกม ไปแว้น หรือไปติดหญิง แต่ถ้ามีฟุตบอลให้เล่น พวกผมก็ไม่ไปไหน เลือกที่จะเตะบอล เพราะชอบมากกว่า” อ้นซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มสะท้อน
แต่ในเวลานั้น อ้นและเพื่อนๆ ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะขาดทั้งทุน กำลังคนที่จะมาช่วยกันทำ โดยเฉพาะ ขาด “วิธีคิด – วิธีบริหารจัดการ” ให้สนามฟุตบอลกลับมาใช้งานได้จริงๆ กระทั่งได้เห็นข่าวการเปิดรับสมัคร โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดจึงไม่รอช้า สมัครเข้าร่วมโครงการทันที
เมื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว อ้นเล่าว่าทีแรกพวกเขาคิดจะนำงบประมาณที่ได้ 20,000 บาทไปติดตั้งไฟสปอร์ตไลท์ที่สนามก็พอแล้ว แต่พอได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปเติมแนวคิดและเครื่องมือการทำงานจากพี่เลี้ยงโครงการฯ ก็ทำให้คิดได้ว่าเงินแค่นี้ถึงจะติดไฟสปอร์ตไลท์ไปก็คงติดได้ไม่กี่ดวง ไม่นานเงินหมด สนามกีฬาก็กลับมารกร้างเหมือนเดิม จึงต้องกลับมาหาทางใหม่ว่า “ทำอย่างไร” ให้เรามีสนามกีฬาไว้ใช้อย่างยั่งยืน มากกว่าจะคิดเอาเงิน20,000 บาทไปซื้อ “อะไร”
เมื่อตั้งหลักวิธีคิดได้แล้ว ทั้งหมดจึงลงมือทำทันที เลิกบ่นเลิกต่อว่าคนอื่นว่าไม่มีใครทำอะไร แต่เริ่มทำที่ตัวเอง ซื้อน้ำมันและยืมเครื่องตัดหญ้าจาก อบต. และจากเพื่อนบ้านมาช่วยกันตัดหญ้าวันละส่วน – สองส่วน ระหว่างทำบางครั้งก็อยากเลิกเพราะทั้งร้อนทั้งเหนื่อย บ้างก็ถูกหัวเราะถากถางจากคนในชุมชนว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครย่อท้อหรือล้มเลิก เพราะรู้ว่าลึกๆ แล้ว สิ่งที่ทำทำไปเพื่ออะไร หลายครั้งก็อาศัยการพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกันว่าเป็นการทำเพื่อชุมชนของเรา จนสนามฟุตบอลเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาทีละนิดละน้อย ถึงยังตัดหญ้าไม่เสร็จทั้งหมด แต่ก็มีพื้นที่มากพอจะเล่น “ฟุตบอล” กีฬาที่พวกเขารักเป็นรางวัลตอบแทนทุกเย็น เกิดเป็นความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ และมิตรภาพในหมู่เพื่อนฝูงที่ดึงดูดให้คนที่มีใจรักกีฬาฟุตบอลในชุมชนเข้ามาขอเล่นฟุตบอลด้วย
“พวกผมก็จะบอกเขาว่าถ้าพี่อยากเล่นฟุตบอลด้วยกันก็ขอให้มาช่วยกันตัดหญ้า มาช่วยกันดูแลนะ เราจะได้มีสนามกีฬาไว้ใช้นานๆ เขาก็เห็นด้วยแล้วมาช่วยกันทำ พวกผมก็เจียดเอาเงินงบประมาณจากโครงการเล็กๆ น้อยๆ มาซื้อข้าวซื้อน้ำกินด้วยกันหลังตัดหญ้าและดูแลสนามเสร็จ” อ้นเล่ากลยุทธ์การดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกเหนือจากการตัดหญ้าให้พอเล่นฟุตบอลได้แล้ว ทั้ง 5 หนุ่มยังคิดต่อยอดปรับปรุงสนามกีฬาของชุมชนให้น่าใช้และมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วยการชวนกันเก็บขยะ คัดแยกขยะไปขายเอาเงินซื้ออุปกรณ์กีฬาเข้ากองกลาง ล้างทำความสะอาดอัฒจันทร์ ล้างห้องน้ำ ทาสีรั้ว และเปลี่ยนแม่กุญแจใหม่ป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งมั่วสุมยามวิกาล รวมทั้งตั้ง “ชมรมฟุตบอลอมรดี” สอนน้องๆ ในชุมชนเล่นฟุตบอล รวมทั้งวางกติกาการใช้และร่วมกันดูแลรักษาสนามกีฬาให้มีใช้ต่อเนื่อง เช่น ใครมาใช้งานแล้วต้องช่วยกันเก็บขยะ และกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันที่สมาชิกทุกคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาช่วยกันตัดหญ้า ทำความสะอาดสนาม
ด้วยวิธีคิด วิธีการทำงานเช่นนี้ ไม่นานนัก สนามกีฬาของชุมชนก็กลับมาใช้งานได้เต็มศักยภาพ เกิดเป็นภาพที่ทุกเย็นหลังเลิกเรียน – เลิกงาน ทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ก็จะมาใช้สนามกีฬาออกกำลังกายด้วยกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กผู้ชายเตะฟุตบอล บ้างมาวิ่งออกกำลังกาย ส่วนเด็กผู้หญิงก็มาตีแบต บ้างก็ปั่นจักรยานบริหารน่อง และบางส่วนก็มานั่งพักผ่อนพูดคุยกันตามอัธยาศัย ระยะหลังยังมีหน่วยงานราชการในจังหวัดมาขอใช้สนามจัดแข่งขันกีฬาแล้วมอบงบประมาณให้บ้างเป็นค่าบำรุงรักษาสนาม ซึ่งทั้ง 5 ก็จะอาศัยจังหวะเช่นนี้ต่อเติมงบประมาณของกลุ่มด้วยการเปิดซุ้มขายข้าวไข่เจียว และน้ำดื่ม เพื่อนำรายได้สมทบการทำงานของกลุ่มให้ดำเนินการได้แข็งแรงยิ่งขึ้น
“ตอนนี้เห็นคนมาใช้ ช่วยกันรักษาความสะอาด สนามสะอาด ปิดแน่นหนา แหล่งมั่วสุมหมดไป ถึงไม่มีใครมาขอบคุณผมก็ดีใจครับ อาธเนศ (ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก) จะบอกพวกผมเสมอว่า ถ้าเราสร้างลานจอดเครื่องบินไว้แล้ว เดี๋ยวก็มีเครื่องบินมาลงจอดเอง สิ่งที่พวกผมทำเป็นตัวพิสูจน์คำพูดของอาธเนศว่าเป็นจริง ตอนนี้ อบต.กำลังทำประชามติว่าจะมีการติดสปอร์ตไลท์ที่สนามกีฬาหรือไม่” แกนนำกลุ่มคนเดิมสะท้อนและว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเขาได้รับมันมากเกินกว่าการติดไฟสนาม หรือการพลิกฟื้นสนามกีฬาให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
“ถ้าวันนั้นพวกผมยังปล่อยให้สนามฟุตบอลของชุมชนรกร้างเป็นแหล่งมั่วสุมอยู่ ต่อไปเมื่อผมมีครอบครัวอาจเป็นลูกผมหรือเมียผมเองก็ได้ที่เดินผ่านสนามฟุตบอลแล้วถูกคนเมายาทำร้าย” อ้นสะท้อนวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเข้าร่วมโครงการ พร้อมๆ กับสำนึกพลเมืองที่ก่อตัวขึ้นภายในว่ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำอะไรเพื่อชุมชน และทำได้จนสำเร็จ
“ตอนนี้ผมเลิกแว้นแล้ว ถ้ายังแว้นอยู่อาจตายไปแล้วก็ได้ พอมาเตะบอล พ่อแม่ก็ไม่ต้องเป็นห่วง แถมได้รู้จักคนมากขึ้น รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ ตอนนี้อายุเท่านี้เรายังทำได้ขนาดนี้ ต่อไปเราเป็นผู้ใหญ่เราก็ต้องทำได้ดีมากขึ้นไปอีก” อ้นสะท้อน
ส่วน “พีท” แกนนำอีกคน สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า เมื่อก่อนติดเกม วันๆ ไม่ทำอะไร ตอนนี้เปลี่ยนมาเล่นฟุตบอลแทน ได้ออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง เกิดเป็นความรักความผูกพันกับสนามฟุตบอลแห่งนี้ อยากมาเห็นมาเล่นทุกวัน นอกจากนี้การทำโครงการยังทำให้พีทได้เรียนรู้เรื่องความสามัคคี เพราะหากไม่มีเพื่อนช่วยกันทำก็คงทำไม่สำเร็จ และยังได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือส่วนรวม จากเมื่อก่อนไม่เคยทำอะไรแบบนี้เลย พอมาทำแล้วก็อยากทำต่อไปมากขึ้นในอนาคต
“อย่างผมเห็นเด็กๆ มาเล่นฟุตบอล ผมก็ดีใจครับ ดีกว่าให้เขาไปทำอย่างอื่น” พีทสะท้อนปิดท้ายเรื่องราวของอ้นและเพื่อนๆ จึงเป็นตัวอย่างของเยาวชนไทย ที่พร้อมจะลุกขึ้นมาเป็น “พลเมือง” ทำเรื่องราวดีๆ ให้แก่ชุมชน เพียงผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ และให้โอกาสพวกเขาได้แสดงพลังและศักยภาพเท่านั้น
สำหรับ โครงการเยาวชนปลายโพงพางส่งเสริมกีฬาพัฒนาชุมชน ของอ้นและเพื่อนเป็นหนึ่งใน 20โครงการเยาวชน ภายใต้โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน 4 จังหวัดภาคตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ให้มีสำนึกของความเป็นพลเมือง (Active Citizen) ร่วมดูแลและสร้างสรรค์ท้องถิ่นของตนให้น่าอยู่ ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทางโครงการฯ จะเปิดรับสมัครกลุ่มเยาวชนส่งข้อเสนอโครงการพัฒนาชุมชนเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2 น้องๆ เยาวชนที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่www.scbfoundation.com #