กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ปภ.
ช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประชาชนผู้ประสบภัย และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างมิอาจประมาณค่าได้แล้ว ผู้ประสบภัยยังต้องระมัดระวังโรคภัยต่าง ๆ ที่อาจแฝงตัวกับกับน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอนำเสนอโรคและภัยต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม รวมถึงวิธีการป้องกัน เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย ดังนี้
โรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม ประกอบด้วย โรคติดต่อทางน้ำ ซึ่งเกิดจากการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์ บิด อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบจากเชื้อไวรัสเอ รวมทั้งโรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส (Lepto spirosis) โรคน้ำกัดเท้า โรคเท้าเปื่อย เชื้อราตามง่ามเท้า ที่เกิดจากการย่ำน้ำ ลุยน้ำ เล่นน้ำที่มีเชื้อโรคแพร่กระจายอยู่ รวมถึง โรคติดเชื้อต่างๆ ที่มีแมลงเป็นพาหะ เนื่องจากในภาวะที่มีน้ำท่วมขังปริมาณมากๆ จะเอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของยุงทุกชนิด โดยเฉพาะยุงลายและยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย ถัดมา ได้แก่ โรคติดต่อทางเดินหายใจ เนื่องจากช่วงน้ำท่วม สภาวะอากาศจะชื้นซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายและการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ตั้งแต่ป่วยเล็กน้อยไปจนถึงป่วยหนัก เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม
นอกจากนี้ยังมีภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ตะปูตำ หนามแทง สังกะสีบาด ไฟฟ้าลัดวงจร ที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมขัง เพราะมีการใช้เครื่องปั่นน้ำที่ต้องมีการเสียบปลั๊ก ถ้าสายไฟเปียกน้ำ หรือปลั๊กอยู่ใกล้น้ำ อาจมีกระแสไฟรั่วไหลออกมาได้ เมื่อคนที่มือเปียก หรือเท้าอยู่ในน้ำ จับสายไฟ จะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตในทันที เพราะส่วนใหญ่จะช่วยไม่ทัน หรือแม้บางครั้งจะมีคนเข้าไปช่วย แต่ก็มักจะเสียชีวิตตามไปด้วย ตลอดจนการจมน้ำตายจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เรือล่ม และการขับขี่ยานพาหนะในขณะเกิดน้ำท่วม สุดท้าย ได้แก่ พิษจากสัตว์ต่าง ๆ ที่มากับน้ำ เช่น งูเห่า งูแมวเซา ตะขาบ แมงป่อง เมื่อได้ทราบว่า มักจะมีภัยหรือโรคอะไรบ้างที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ผู้ประสบภัยก็ควรจะร่วมมือกันป้องกันโรคและภัยเหล่านี้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
- ควรดื่มน้ำที่สะอาด ถ้าเป็นไปได้ควรต้มก่อนดื่ม หรือดำเนินการฆ่าเชื้อโรค อย่ารับประทานอาหารที่ทิ้งไว้นานเกิน 4 ชม. อย่างเด็ดขาด ควรรับประทานอาหารที่สุก สด ใหม่ และไม่มีแมลงวันตอม ส่วนอาหารกล่องที่ได้รับแจกต้องตรวจสอบดูก่อนว่าถูกสุขอนามัยหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจอย่าทาน
ในช่วงที่น้ำท่วมขังหากถ่ายลงโถส้วมไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อนนำไปใส่ถุงใหญ่อีกครั้ง หากจำเป็นต้องย่ำน้ำหรือลุยน้ำท่วมขัง ควรสวมรองเท้าบู๊ตทุกครั้ง เพื่อป้องกันทั้งโรคติดต่อทางน้ำ อุบัติเหตุ และสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ และเมื่อขึ้นจากน้ำต้องล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง อย่าให้เด็กลงเล่นน้ำและใช้มือหรือผ้าที่สกปรกขยี้หรือเช็ดตา เพราะอาจติดเชื้อตาแดงได้ ทุกครั้งที่นอนควรกางมุ้ง พยายามอย่าอยู่ในที่มืดและอับชื้น กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปิดฝาตุ่มน้ำให้มิดชิด เก็บทำลายภาชนะที่อาจขังน้ำเอาไว้ เช่น โอ่ง น้ำที่ขาตู้กับข้าวควรใส่เกลือ รวมทั้งพยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา สวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งสนิท เพื่อป้องกันโรค
ตลอดจนร่วมกันระมัดระวังอุบัติเหตุ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้รถและเรือ ควรขับขี่ช้า ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ถ้าไม่ชำนาญต้องถามผู้รู้ก่อนใช้ หากจำเป็นต้องเดินทางในยามค่ำคืน ควรพกไฟฉายติดตัวไปด้วย และหมั่นดูแลบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์โรคหรืออันตรายจากสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจหนีน้ำมาหลบในบ้าน
นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้เสมอ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเกิดอุบัติเหตุ จนได้รับบาดแผล แม้จะไม่รุนแรงมากนักแต่ก็ต้องรีบล้างแผลให้สะอาดและปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ถ้าบาดแผลอยู่ลึกต้องรีบไปหาหมอ รวมทั้งต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันบาดทะยักด้วย ถ้าเป็นไข้ แต่หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ได้ ควรทานยาสามัญประจำบ้าน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นต้องรีบออกมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่าชะล่าใจเด็ดขาด
พร้อมกันนี้ จะต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เพราะหากร่างกายอ่อนแอ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่ายต่างจากคนที่สภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งหากเจ็บป่วยก็จะไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะน้ำท่วมขังตั้งแต่ 3 วันเป็นต้นไป สิ่งที่ต้องระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษ คือ ร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมให้มีสุขาภิบาลที่ดี เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีจะเป็นพาหะที่ดีของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ แม้ว่าน้ำจะลดแล้วก็ตามแต่จะต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ ปัจจัย 4 โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มักจะใช้น้ำบาดาลจากบ่อในการอุปโภค บริโภค ฉะนั้น หลังจากน้ำยุบแล้ว จะต้องล้างบ่อให้สะอาดก่อนใช้น้ำ เพราะอาจมีการเพาะพันธุ์เชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ในบ่อได้
สุดท้ายนี้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมมิให้เกิดน้ำท่วมได้ เราจึงต้องร่วมกันดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคและภัยต่างๆ ที่แฝงตัวมาในช่วงเกิดน้ำท่วมได้ !!!.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
โทร./โทรสาร. 0-2243-0674 e-mail public@disaster.go.th--จบ--