กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2558 จำนวน 1,204 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 30.3, 32.6 และ 37.1 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.7,14.7,12.1,13.0 และ 15.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.2 และ 15.8 ตามลำดับ โดยจากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2558 ยังคงปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตร ประกอบกับภาวะการแข่งขัน และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งความกังวลต่อการที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองไทย กรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการส่งออก ช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าบทบาทของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว ขณะเดียวกันโครงสร้างการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงงาน จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.1 ในเดือนเมษายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 74.7 ลดลงจากระดับ 79.4 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 ลดลงจาก 100.0ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.0 ลดลงจาก 84.2 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.8 ลดลงจาก 101.4 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 97.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.0 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 105.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.4 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน
ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 86.3 ลดลงจากระดับ 89.5 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทโครงเหล็ก เหล็กรีดร้อน เหล็กเส้น มียอดในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้งานในประเทศลดลง ประกอบกับสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศยังชะลอตัว) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน, สินค้าประเภท Hard Disk Drive และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียนและอียูลดลง) อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนประกอบบานประตู บานพับต่างๆ เทปอลูมิเนียมฟอยล์แบบมีเส้นใย มียอดขายในประเทศลดลง) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ลาว และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคสินค้าไก่ในตลาดต่างประเทศ, ผลิตภัณฑ์ ขิงดอง กาแฟสำเร็จรูป มียอดการส่งออกไปประเทศแถบเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดหลักมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง) ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.5 ลดลงจากระดับ 105.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 78.0 ลดลงจากระดับ 79.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม และถ้วยเซรามิก มียอดสั่งซื้อลดลงจากตลาดอาเซียน ส่วนสินค้าประเภทสุขภัณฑ์เซรามิก และกระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดและไม้ยางพารา มียอดการส่งออกลดลง จากตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ยอดสั่งซื้อหลังคาสังกะสีและหลังคาเหล็กเคลือบ จากประเทศลาว กัมพูชา และพม่าลดลง สินค้าประเภทกระเบื้องหลังคาลอน แผ่นฝ้าเพดานมียอดขายในประเทศลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ มียอดการส่งออกไปประเทศ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้ายผ้ายืด มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากตลาด เอเชีย, ยุโรป และตะวันออกกลาง) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.8 ลดลงจากระดับ 98.3 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.5ลดลงจากระดับ 82.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง ที่มีขนาดใหญ่ และหินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง, ยอดสั่งซื้อหินอ่อนปูพื้นจากประเทศลาว กัมพูชา เวียดนามลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรมียอดขายลดลง ผู้ประกอบการมีการชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากสินค้าในสต๊อกปริมาณสูง) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ มียอดการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง, สื่อสิ่งพิมพ์และป้ายโฆษณามีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ) ขณะที่ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (สินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาค่าแรงสูง และขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าประเภทชุดนักเรียน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียน) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.4 ลดลงจากระดับ 97.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 88.9 ลดลงจากระดับ 95.8 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องตัด กลึง ขึ้นรูป เครื่องจักรกลเครื่องทำโลหะแผ่น เครื่องผลิตแม่พิมพ์ ในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขายรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถเชิงพาณิชย์ ในประเทศลดลง เนื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชน ลดลง ประกอบกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ ยานยนต์ (สินค้าประเภทล้อแม็กซ์ และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์มียอดการผลิตลดลง)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เนื่องจาก ปิโตรเคมีภัณฑ์ เช่น โพลิเมอร์ มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมพลาสติก ขณะที่ผงเมลามีน เม็ดพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 เพิ่มขึ้นจาก 102.8 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 89.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.7 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางแผ่นยางรมควัน และถุงมือยางทางการแพทย์ มีคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้านราคายางก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (เนื่องจากยอดขายน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าประเภทอาหารเสริม Biotic มียอดการส่งออกไปประเทศ ฮ่องกง มาเลเชียเพิ่มขึ้น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป (ผู้ประกอบการเริ่มมีความกังวลเรื่องใบเหลืองจาก EU ส่งผลให้การส่งออกกุ้งและทูน่ากระป๋องลดลง เนื่องจาก EU ชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.7 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 82.6 ปรับตัวลดลงจาก 84.2 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.3 ลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 100.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.5 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.8 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐมีการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษี และขยายฐานภาษีให้กับประเทศ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงหามาตรการเร่งพัฒนามาตรฐานสินค้าไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก