กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กสทช
เรื่องแนวทางการใช้คลื่นความถี่ 2.3 GHz และ 2.6 GHz, รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557, ความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาฯ, และเรื่องการจำกัดการถือครองคลื่นของผู้เข้าร่วมประมูลไม่เกิน 60 MHz
วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 12/2558 วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ทั้งเรื่องการพิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ เรื่องแนวทางการนำคลื่นความถี่ 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคม รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว รวมทั้งเรื่องความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาฯ ที่ค้างการพิจารณามาจากการประชุมครั้งแล้ว และเรื่องการจำกัดการถือครองคลื่นขอผู้เข้าร่วมประมูลไม่เกิน 60 MHz
วาระพิจารณาร่างประกาศเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯในการประชุม กทค. ครั้งนี้ จะมีการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้วเมื่อ 12 มีนาคม 2558 ทั้งนี้ร่างประกาศฉบับปรับปรุงนี้ มีการเพิ่มเติมในส่วนภาคผนวกเพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำในลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งช่วยให้เกิดความชัดเจนในการนำไปบังคับใช้ โดยส่วนใดที่มีการยกตัวอย่างอยู่ในภาคผนวก ก็ไม่จำเป็นต้องมาตีความอีกในภายหลังว่าเข้าข่ายการกระทำที่เอาเปรียบหรือไม่ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับการคุ้มครองผู้บริโภคและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของร่างประกาศฉบับนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรปรับปรุงให้เกิดความครอบคลุมและสอดคล้องกับปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบัน เช่นเรื่องการปัดเศษบริการอินเทอร์เน็ต การขยายเพดานวงเงินโดยอัตโนมัติ รวมถึงเรื่องการห้ามไม่ให้มีการโทรศัพท์หรือส่งข้อความการโฆษณาจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภค ซึ่งพบว่า สำนักงาน กสทช. มีการปรับปรุงหลักการจากร่างประกาศเดิมที่มีลักษณะเป็น opt-in ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ กลายเป็นหลัก opt-out ซึ่งผู้บริโภคจะต้องแจ้งไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือข้อความที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญก่อน เงื่อนไขลักษณะนี้จึงเหมือนเป็นการอนุญาตให้ผู้ให้บริการกระทำการที่เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญได้ และผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องแจ้งไม่ยอมรับโทศัพท์หรือข้อความนั้นเอง ดังนั้นในส่วนของประเด็นนี้ก็ควรแก้ไขกลับไปใช้หลักของร่างประกาศฉบับเดิม
นอกจากนี้ หลักการที่ต้องกำหนดให้ชัดตั้งแต่ในชั้นนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นั่นคือ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการมิให้มีการดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการระงับการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่ใช้สิทธิตามร่างประกาศนี้จึงควรเป็นบุคคลใดก็ได้ที่พบเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วแจ้งให้ กสทช. ดำเนินการ รวมถึงสำนักงาน กสทช. หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และคณะกรรมการ กสทช. ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เอง หากเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการผู้ร้องเรียน
วาระแนวทางการนำคลื่นความถี่ 2.3 GHz และ 2.6 GHz เพื่อใช้สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากการที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 กำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHz และ 2.6 GHz ในกิจการโทรคมนาคม แต่ปัจจุบันความถี่ทั้งสองย่านมีการใช้งานของผู้ใช้คลื่นความถี่เดิมอยู่ทั้งในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุคมนาคม ที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางนำคลื่นความถี่ย่าน 2.3 GHzและ 2.6 GHz มาใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ และนำเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาในครั้งนี้ โดยประเด็นที่น่าจับตาคือมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายว่าให้สามารถนำเงินจากการประมูลและกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ มาใช้ชดเชยการโยกย้ายความถี่ได้ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องศึกษาแนวทางการดำเนินการและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรัดกุมด้วย เพราะหากการชดเชยไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของคลื่นความถี่ที่เรียกคืน ก็อาจทำให้รัฐเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ในส่วนข้อเสนอที่จะไปกระทบสิทธิของผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่เดิม เช่น อสมท. ก็จำเป็นต้องจำเป็นต้องรอการพิจารณาให้ความเห็นจากส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือคณะทำงานพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรทัศน์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรอบด้านด้วยเช่นกัน
วาระรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว
วาระนี้เป็นการรายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ให้ที่ประชุม กทค. รับทราบ รวมทั้งเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ทั้งในกรณีผู้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทเอกชนและเป็นรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ รายงานเกี่ยวกับการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวประจำปี 2557 ระบุว่า ในปี 2557 มีผู้รับใบอนุญาตที่เข้าข่ายมีหน้าที่ต้องรายงานพฤติการณ์และสถานภาพการครอบงำกิจการให้ กสทช. ทราบ จำนวนทั้งสิ้น 59 ราย แบ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 53 ราย และผู้รับสัมปทานจำนวน 6 ราย แต่ปรากฏว่ามีจำนวน 12 รายที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เนื่องจากไม่จัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานหรือจัดส่งมาไม่เพียงพอต่อการพิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ต้องติดตามเอกสารหลักฐานและตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าจับตาในวาระนี้คือข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอให้อนุโลมรายงานการตรวจสอบข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามประกาศกำหนด ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะทำให้ขาดข้อมูลที่ครบถ้วนหรือเพียงพอต่อการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. ได้ แม้ในทางปฏิบัติประกาศฉบับนี้อาจไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยก็ตาม กล่าวคือ มีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ลงรายละเอียดถึงในระดับการบริหารงานภายในบริษัท เช่นการห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด การห้ามถือหุ้นโดยคนต่างด้าวที่มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการห้ามแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดโดยคนต่างด้าว ซึ่งการกำหนดรายละเอียดในลักษณะนี้อาจสร้างความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติได้
วาระความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาฯ
วาระนี้เป็นเรื่องที่ค้างพิจารณาจากการประชุม กทค. ครั้งที่แล้ว สาระสำคัญเป็นการนำเสนอความคืบหน้าในการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800MHz (มาตรการเยียวยาฯ) ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้สำนักงาน กสทช. ขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการเยียวยาฯ กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 นี้ โดยวาระนี้มีหลายประเด็นที่น่าจับตา ทั้งเรื่องยอดผู้ใช้บริการคงเหลือในระบบ ซึ่งตามรายงานระบุว่ายังมีเหลืออีกกว่า 700,000 เลขหมาย มีเงินคงค้างกว่า 20 ล้านบาท เรื่องการกำหนดขั้นตอนการขอเงินคืนของผู้ใช้บริการภายหลังจากมาตรการเยียวยาสิ้นสุด เรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบ และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือเรื่องปมปัญหาที่ก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โอนย้ายเลขหมายไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ ในเรื่องของการกำหนดขั้นตอนการขอเงินคืนของผู้ใช้บริการ มีประเด็นที่น่าห่วงว่าผู้บริโภคอาจจะถูกเอาเปรียบ เนื่องจากแผนการกำหนดขั้นตอนการขอเงินคืนที่ผู้ให้บริการนำเสนอมายังสำนักงาน กสทช. นั้น ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการเท่าใดนัก และอาจขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ เช่น แผนการดำเนินงานของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาในการขอรับเงินคืน คือตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2558 ทั้งที่ข้อกฎหมายเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคมกำหนดว่า ให้ผู้บริการมีหน้าที่คืนเงินแก่ผู้ใช้บริการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเลิกสัญญา โดยไม่ได้กำหนดเวลาว่าผู้ใช้บริการต้องขอคืนเงินภายในระยะเวลาเท่าใด หรือเรื่องวิธีการการคืนเงินที่มีการกำหนดว่าจะคืนเงินด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินธนาคารจำนวน 35 บาท ที่จะให้เป็นภาระของผู้ใช้บริการ โดยจะหักเงินจากยอดคงเหลือก่อนการโอนเข้าบัญชีผู้ใช้บริการ ซึ่งในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ควรจะเป็นสิทธิที่ผู้ใช้บริการเลือกได้ว่าจะขอคืนเป็นเงินสด เช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร และต้องไม่มีภาระค่าใช้จ่ายด้วย
สำหรับประเด็นการประชาสัมพันธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายที่เหลืออยู่อีกไม่ถึง 1 เดือน ก็คงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะร่วมมือกันให้ข้อมูลผู้บริโภคถึงหน้าที่และสิทธิต่างๆ โดยหากยังต้องการใช้เลขหมายเดิม ก็ต้องโอนย้ายเลขหมายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นๆ หรือหากไม่ต้องการใช้เลขหมายนั้นอีกต่อไป ก็มีสิทธิที่จะขอรับเงินที่เป็นยอดคงเหลือในระบบคืนตามวิธีการที่แสดงความประสงค์ไว้ได้
ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมายโดยไม่ถูกต้องนั้น สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ สตง. ได้ตรวจสอบพบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการโอนย้ายผู้ใช้บริการจากบริษัทในเครือที่ให้บริการ 2Gไปยัง 3G โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้แสดงเจตนาขอโอนย้ายตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 12 มีนาคม 2558 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงกลับภายใน 60 วัน ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ทำเรื่องขอผัดผ่อนการชี้แจงออกไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ด้านการกำกับดูแลได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งานซิมการ์ดของผู้ใช้บริการ แล้วพบว่าซิมทรูมูฟที่มีการใช้งานอยู่นั้น ถูกผู้ให้บริการโอนย้ายไปยังเครือข่าย 3G ของเครือข่ายผู้ให้บริการเดียวกันโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้ร้องขอ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดประกาศเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ก็คงต้องติดตามดูว่าสำนักงาน กสทช. จะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
เรื่องการจำกัดการถือครองคลื่นของผู้เข้าร่วมประมูลไม่เกิน 60 MHz
เรื่องนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระการประชุม แต่เป็นการให้ข่าวจากนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ว่าจะเสนอให้ที่ประชุม กทค. เพิ่มเติมเงื่อนไขในการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะจัดประมูลในช่วงปลายปีนี้ ด้วยการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องถือครองคลื่นความถี่โทรคมนาคมทั้งที่อยู่ในสัญญาสัมปทาน และไม่ได้อยู่ในสัมปทานรวมกันแล้วไม่เกิน 60 MHz ซึ่งจะนับรวมคลื่นทั้งของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกันทุกด้าน ไม่ว่าด้านพฤตินัยและนิตินัย
ตามข่าวระบุว่า เหตุผลที่เลขาธิการ กสทช. เสนอให้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมดังกล่าว เพราะต้องการบีบให้ดีแทคคืนคลื่นย่าน 1800 MHz ที่ยังไม่หมดสัมปทาน แต่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 25 MHz กลับมาให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อนำมาจัดประมูลต่อไป