กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายสมหมาย ภาษี) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังไปดูการใช้เงินของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมดว่าโครงการไหนจะลงทุนเมื่อไร และจะใช้แหล่งเงินจากที่ไหนบ้าง ซึ่งมีอยู่ 3 ทาง คือ การใช้เงินงบประมาณ จากเงินกู้ และจากการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อบริหารให้การลงทุนของภาครัฐมีความต่อเนื่อง การจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก การลงทุนที่ดำเนินการอยู่ไปจนถึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วงที่สองการลงทุนตั้งแต่หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีการทำประชามติ มีการออกกฎหมายลูก จนได้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่งประมาณปลายปี 2559 สำหรับการลงทุนในช่วงสุดท้าย เป็นการลงทุนที่จะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการ ทั้งโครงการที่ดำเนินการแล้ว ก็ต้องดูว่ามีส่วนที่ยังดำเนินการไม่สำเร็จ ซึ่งต้องให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อ ก็จะมีความชัดเจนว่า ส่วนที่จะทำต่อจะใช้เงินจาก แหล่งไหน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลปัจจุบันก็จะสร้างความชัดเจนให้กับรัฐบาลใหม่ดำเนินการสานต่อ ตัวอย่างที่ต้องมีความชัดเจนการลงทุน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้กู้เงินระยะที่ 2 กว่า 1 หมื่นล้านบาท และจะต้อง ดำเนินการกู้เงินระยะที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายว่าจะดำเนินการ เมื่อไร หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเมื่อมีการสร้าง ส่วนของรางเสร็จ ก็ต้องจัดให้ชัดเจนว่า ในส่วนของการบริหารเดินรถรัฐบาลจะดำเนินการเอง หรือจะให้เอกชน มาร่วมลงทุน เป็นต้น แม้ว่าตอนนี้ตำแหน่ง ผอ.สบน. ยังว่างอยู่ ก็สามารถดำเนินการเรื่องจัดความชัดเจนของการลงทุนได้ คาดว่าจะมีการตั้ง ผอ.สบน. คนใหม่ เร็วๆ นี้ (ที่มา : นสพ.แนวหน้า หน้า 9)
2.) เปิดเผยว่า ผู้ชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กรรมการสรรหาเสนอขึ้นมาเป็นคนนอกทั้ง 2 คน คือ นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ซึ่งผู้สมัครทั้งสองที่มีความรู้ความสามารถที่จะเรียนรู้งานได้ หากได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ภายใน 2 สัปดาห์จะเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่จะต้องเป็นคนที่ไม่ถูกนักการเมืองชี้นำ ไม่จำต้องมีบารมีมาก่อน เพราะบารมีเป็นเรื่องที่สร้างกันได้ หากทำดีบารมีก็เกิด แต่หากทำชั่วบารมีก็หายหมด (ที่มา : นสพ.ข่าวสด หน้า 9)
ปลัดกระทรวงการคลัง (นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์)
1.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประชุมร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปการเตรียมการจัดงานมหกรรมแบงก์รัฐเพื่อประชาชน ภายใต้แนวคิด “ช่วยชาติ ช่วยคน ช่วยเศรษฐกิจไทย” ตามแนวนโยบายที่ได้มอบหมายให้คลังพิจารณาแนวทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดแหล่งเงินทุน โดยงานมหกรรมแบงก์รัฐเพื่อประชาชน มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27-28 มิ.ย.2558 ใน 5 จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศ 1. Hall 3 อิมแพค เมืองทองธานี 2.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา ระยอง 3.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี 4.ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ และ 5.คอนเวนชั่นฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่โดยมีหน่วยงานผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย สถาบันการเงินของรัฐ 9 แห่ง ผู้ประกอบการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 4 แห่ง หน่วยงานให้ความรู้ด้านการเงิน 7 แห่ง โดยสถาบันการเงินของรัฐจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินและอื่นๆ แก่ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงินและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการเงิน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้า ร่วมงานใน 5 จังหวัด มากกว่า 100,000 คน โดยคาดว่าจะมียอดเงินฝากรวมกว่า 5,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อรายย่อยกว่า 8,000 ล้านบาท และมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ราย (ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ หน้า 8)
2.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้เสนอรายชื่อปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ต่อ ครม. เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แจ้งว่าในการแต่งตั้งปลัดกระทรวงคนใหม่จะต้องใช้วิธีการสรรหาจากคณะกรรมการของแต่ละกระทรวงที่ตั้งขึ้นมา ซึ่ง ก.พ.จะเสนอเกณฑ์ในการสรรหาเข้า ครม. หลังจากนั้นในแต่ละกระทรวงจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูว่าผู้บริหารระดับ 10 คนใดเหมาะสมที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง (ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 มิ.ย. 2558 กรอบบ่าย)
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ) กล่าวว่า สถานการณ์โรคเมอร์สยังสามารถควบคุมได้ และจะไม่รุนแรงเท่ากับสถานการณ์โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2546 โดยมีเหตุผลดังนี้ (1) มีการเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อโรคเมอร์สอย่างรวดเร็ว และชัดเจนกว่าในสมัยโรค SARS ส่งผลให้มีการควบคุมได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศต่างๆ (2) ท่าอากาศยานนานาชาติของไทยมีการจัดตั้งจุดคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากสายการบินที่มาจากประเทศตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ และ (3) กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามผู้ที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย และสร้างระบบคัดกรองผู้ป่วย ตลอดจนปรับระบบการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล ให้มีการป้องกันควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเดินทางล่าสุดยังพบว่า สถานการณ์โรคเมอร์สยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิในวันที่ 18-21 มิถุนายน 2558 ยังคงขยายตัวในระดับสูงมากที่ร้อยละ 57.8 ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการจองผ่านบริษัทนำเที่ยวและห้องพักต่างๆ ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด ดังนั้น สศค. จึงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์โรคเมอร์สจะสามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์โรคเมอร์สและผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป (ที่มา : นสพ.ข่าวหุ้น หน้า 30)
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (นายชาติชาย พยุหนาวีชัย) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2% จากต้นปีอยู่ที่ 1.73% โดยสินเชื่อส่วนใหญ่ที่ผิดนัดชำระหนี้เป็นสินเชื่อรากหญ้า การผิดนัดชำระหนี้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี แต่เริ่มชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งธนาคารพยายามลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 1.5-1.7% ทั้งนี้ มาตรการช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจคือ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้เข้าโครงการหยุดชำระเงินต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 3,500 บาท/เดือน ตั้งแต่เปิดโครงการวันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน มีลูกค้าเข้าโครงการประมาณ 2 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 8,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อปิดโครงการในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จะมีลูกค้าเข้าโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารจะทบทวนเป้าหมายสินเชื่อที่ตั้งไว้ 6% ลง เพราะครึ่งปีก็ปล่อยกู้ได้ต่ำกว่าเนื่องจากรัฐปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3% (ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ หน้า A2)