กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิด 3 มาตรการป้องกันมลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการระบายน้ำทิ้ง คุมเข้มติดตั้งอุปกรณ์แสดงสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย และสั่งการให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกำชับให้การปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบ และการสั่งการใช้บทลงโทษของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้มข้นโปร่งใส เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิผล โดยแผนระยะยาวในการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเตรียมใช้มาตรฐาน ISO14000 และเร่งทบทวนปรับแก้ไขกฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนและท้องถิ่น
สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ที่ www.diw.go.th
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมลพิษน้ำที่ระบายออกจากโรงงานมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงในส่วนของน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานคร สำหรับโรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและสั่งการโรงงานในท้องที่แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา กรอ. มีการตรวจติดตามโดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจโรงงานตามแผนการตรวจ ปีละประมาณ 10,000 โรง รวมถึงได้จัดช่องทางการร้องเรียนให้กับประชาชนผ่าน สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 และเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะดำเนินการระดมผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ลงพื้นที่ตรวจสอบในชุมชนเพื่อหาแหล่งสาเหตุของการเกิดปัญหาโดยเร็วที่สุด และแก้ไขปัญหาร้องเรียนให้เสร็จสิ้นภายใน 30-60 วันแล้วแต่กรณี จากสถิติการร้องเรียนพบว่า ในปี 2556 มีการร้องเรียน 162 โรง และในปี 2557 มีการร้องเรียน 207 โรง เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 28% และในปี 2558 ถึง 18 มิถุนายน พบว่ามีการร้องเรียน จำนวน 102 โรง ซึ่งทาง กรอ. และ สอจ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบทุกๆข้อร้องเรียนจนแล้วเสร็จและยุติเรื่องเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการนำเสียจากโรงงงานอุตสาหกรรมสูงสุด กรอ. ได้กำหนด 3 มาตรการสำคัญดังนี้
1. มาตรการควบคุมการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานอุตสาหกรรม
โดยมาตรการดังกล่าวให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากการรวบรวมข้อมูลโรงงานในประเทศ พบว่ามีโรงงานจำพวกที่3 (นอกนิคม) ที่อยู่ในการดูแลของ กรอ. จำนวน 77,547 โรง เป็นโรงงานที่มีน้ำเสีย 34,326 โรง โดยในปี 2558 มีเป้าหมายการตรวจติดตามโรงงานทั้งหมด 9,768 โรง ได้ดำเนินการตรวจติดตามสะสมไปแล้ว 5,860 โรง คิดเป็น 60% ของเป้าหมาย
2. มาตรการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย
โดยกำหนดให้โรงงานที่มีน้ำทิ้ง มากกว่า 500 ลบ.ม / วัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย (BOD/COD online) พร้อมส่งสัญญาณค่าการตรวจวัดแจ้งให้ กรอ.ทราบ มีจำนวนทั้งสิ้น 243 โรงงาน ซึ่งโรงงานที่ได้รายงานมายัง กรอ. มีจำนวน 274 โรงงาน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 113%
3. มาตรการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน
ได้แก่ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสีย ตั้งแต่ 500 ลบ.ม./วัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง มีโรงงานที่เข้าข่ายดังกล่าวประมาณ 2,000 โรงงาน โดยปัจจุบันมีโรงงานที่มีผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้วจำนวน 1,500 โรงงาน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเดินระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ
ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรอ. มีบทลงโทษ กับโรงงานที่มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยตรงที่ไม่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยบทลงโทษมีตั้งแต่การ สั่งปรับ 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ หากวิศวกรมีส่วนรู้เห็นในความผิดก็จะถูกลงโทษด้วย ซึ่งการใช้บทลงโทษต่างๆเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ใน ปี 2557เฉพาะในกรุงเทพฯ กรอ. ได้ดำเนินคดีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 จำนวน 4คดี และในปี 2558 ถึงปัจจุบันได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 5 คดี
นอกจากนี้ จากสถิติการเก็บรวบรวมข้อมูลมลพิษน้ำทั่วประเทศ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online Pollution Minute System : OPMS) อันทันสมัยของ กรอ. ที่เชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลการระบายน้ำทิ้งจากอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย(BOD/COD online) ของโรงงานในระบบแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอุปกรณ์ฯดังกล่าวจะติดตั้งที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานและส่งสัญญาณเตือนทันทีที่พบค่ามลพิษน้ำเกินมาตรฐาน พบว่า จังหวัดที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ1-5 ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 98,326 ลบ.ม. สมุทรสาคร จำนวน 84,060 ลบ.ม. พระนครศรีอยุธยา จำนวน 71,906 ลบ.ม. ระยอง จำนวน 63,298 ลบ.ม. และ นครปฐม จำนวน 59,815 ลบ.ม. และประเภทโรงงานเฝ้าระวังที่มีการระบายน้ำเสียออกจากโรงงานสูงสุดต่อวัน เรียงอันดับ 1-5 ได้แก่ โรงงานบำบัดน้ำเสียรวม โรงงานฟอกย้อม โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงงานยางสังเคราะห์และโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์น้ำ
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงนั้น คือการสร้างจิตสำนึกการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ สำหรับแนวทางการสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ประกอบการ กรอ. ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักการป้องกันมลพิษด้วยเทคโนโลยีสะอาด การบำบัดน้ำเสีย การควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย และการตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียของโรงงานเบื้องต้น ผ่านโครงการฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องมาร่วม 10 ปี อีกทั้งได้ส่งเสริมการทำระบบจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ISO 14000 ภายในสิ้นปีนี้ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการ มีการจัดตั้งระบบการบริหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และในส่วนของภาครัฐ กรอ. จะประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ได้บูรณาการร่วมกันโดยทบทวนและปรับแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมการระบายน้ำทิ้งของโรงงาน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจการ พร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยดูแล สอดส่องการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานและการเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ดร. พสุ กล่าวสรุป