กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--NBTC Rights
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม หรือ "หมอลี่" เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 12/2558 ในวันอังคารที่ 23 มิถุนายนนี้ จะมีการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา
นายประวิทย์ กล่าวว่า ภายหลังการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ สำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงร่างประกาศโดยเพิ่มเติมในส่วนภาคผนวกเพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำในลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งช่วยให้เกิดความชัดเจนในการนำไปบังคับใช้ ส่วนใดที่มีการยกตัวอย่างอยู่ในภาคผนวกก็ไม่จำเป็นต้องมาตีความอีกในภายหลังว่าเข้าข่ายการกระทำที่เอาเปรียบหรือไม่ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับผู้บริโภคและผู้ให้บริการ โดยในส่วนของผู้ให้บริการก็จะมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกร้องเรียน หากไม่มีเจตนาที่จะเอาเปรียบผู้บริโภค
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า ในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงควรเร่งออกประกาศฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการออกประกาศฉบับนี้ถือว่าล่าช้ามาก ทั้งที่เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมก็กำหนดให้ต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์เรื่องนี้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งประกาศในลักษณะเดียวกันของฝั่งกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2555 แล้ว
"ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงควรรีบเร่งกระบวนให้ประกาศมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามให้เป็นประกาศที่ครอบคลุมปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย" นายประวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ นายประวิทย์เห็นว่า เนื้อหาของร่างประกาศควรเพิ่มเติมการกระทำในอีกหลายเรื่องเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและสอดคล้องกับปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบัน เช่นเรื่องการปัดเศษบริการอินเทอร์เน็ต การขยายเพดานวงเงินโดยอัตโนมัติ เป็นต้น รวมถึงเรื่องการห้ามไม่ให้มีการโทรศัพท์หรือส่งข้อความการโฆษณาจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภค ซึ่งพบว่า สำนักงาน กสทช. มีการปรับปรุงหลักการจากร่างประกาศเดิมที่มีลักษณะเป็น opt-in ที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ กลายเป็นหลัก opt-out กล่าวคือ ผู้บริโภคจะต้องแจ้งไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือข้อความที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญก่อน ซึ่งการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้ผู้ให้บริการกระทำการที่เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญได้ และผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องแจ้งไม่ยอมรับโทรศัพท์หรือข้อความเอง
"และที่สำคัญ ผมเห็นว่า ตามที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดนั้น ให้ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการมิให้มีการดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการระงับการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่ใช้สิทธิตามร่างประกาศนี้จึงควรเป็นบุคคลใดก็ได้ที่พบเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วแจ้งให้ กสทช. ดำเนินการ รวมถึงสำนักงาน กสทช. หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และคณะกรรมการ กสทช. ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เอง หากเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้อาจไม่ผ่าน หาก กทค. ส่วนใหญ่ในที่ประชุมไม่เห็นด้วย" นายประวิทย์กล่าวในที่สุด