กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ว่า จากการที่กรมชลประทานประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งแก้ไขวิกฤติภัยแล้งรวมทั้งเร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของการชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและการผลักดันน้ำเค็ม ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วย ได้แก่ 1) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่เกษตรกรรมในเขตภาคเหนือตอนบนและเติมน้ำให้เขื่อนต่าง ๆ เช่น เขื่อนภูมิพล แม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา รวม 8 จังหวัด 5 เขื่อน และ 2) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่เกษตรกรรมในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ลุ่มน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวม 7 จังหวัด 2 เขื่อน โดยทั้ง 2 หน่วยได้ขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้วประมาณ 45 วัน และสามารถปฏิบัติการให้มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดได้ทุกวันที่ขึ้นบิน มีพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 15 จังหวัด 143 อำเภอ
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับแผนปฏิบัติการในระยะนี้ ได้มีการนำหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพลุสารดูดความชื้นเข้ามาร่วมปฏิบัติการที่เชียงใหม่ และตั้งฐานเติมสารฝนหลวงเพิ่มที่จังหวัดแพร่ เพื่อปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ได้อย่างใกล้ชิดทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพเมฆ และในระยะต่อไปเมื่อสนามบินจังหวัดตากซ่อมแซมเสร็จ จะตั้งหน่วยฝนหลวงเพิ่มที่จังหวัดตาก เพื่อเร่งเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลโดยตรงอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเที่ยวบินปฏิบัติการฝนหลวงให้มากยิ่งขึ้น โดยจะโยกย้ายเครื่องบินจากศูนย์ปฏิบัติการอื่น มาช่วยปฏิบัติการที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่และพิษณุโลกต่อไป