กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูล สถานการณ์น้ำ และรวบรวมความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้องและเป็นธรรม พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐช่วยเหลือ
นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องมาจากสถานการณ์น้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปี และนาปรัง การอุปโภค-บริโภค และกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ทิ้งช่วง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบนโยบายหน่วยงานในพื้นที่ให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด เกี่ยวกับสถานการน้ำและความจำเป็นในการชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนจนกว่าฝนจะมาตามปกติ โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามและแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการและขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ จัดทำเวทีประชาคมระดับตำบล ในอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ทราบถึงปัญหา พร้อมทั้งสำรวจข้อเสนอแนะ และความต้องการของเกษตรกรที่ยังไม่เพาะปลูกเพื่อให้ได้ความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ ผลการจัดเวทีประชาคม พบว่า กรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้เพาะปลูก เกษตรกรขอให้ส่งเสริมการทำอาชีพเสริม โดยให้ภาครัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิต และจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือ สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว หากน้ำไม่เพียงพอ ข้าวเสียหาย ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือโดยจ่ายเงินชดเชยเช่นกัน อีกทั้งขอให้ภาครัฐควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาเคมี และควบคุมการตรวจสอบเครื่องวัดความชื้น เครื่องชั่งน้ำหนักข้าวของโรงสี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคา โดยขอให้มีการควบคุมราคาข้าวสาร ให้ภาครัฐพักหนี้หรือปลดหนี้แก่เกษตรกร และปรับปรุงระบบชลประทาน แนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งให้ภาครัฐเข้าช่วยเรื่องการจัดรูปที่ดิน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แนะนำให้เกษตรกร ใช้เทคโนโลยีระบบการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว และหากเกษตรกรคาดว่ามีความเสี่ยงจากการเพาะปลูกข้าวนาปี ควรสมัครเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี กับ ธกส. รวมทั้งขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด
นางอัญชนา กล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้ง และการขอความร่วมมือของเกษตรกรในพื้นที่ ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนนั้น ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของทุกหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกันในการ บูรณาการทำงานร่วมกัน โดย สศท.7 จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ต่อไป