กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ยันรัฐเร่งปรับปรุงและพัฒนาสหกรณ์ทั้งระบบ เน้นการบริหารงานมีความคล่องตัว และสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาพร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “ความเสี่ยงทางการเงินและการพัฒนาขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภายใต้กฎหมายสหกรณ์และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ณ สันนิบาตรสหกรณ์แห่งประเทศไทยว่า การสหกรณ์ในประเทศไทยได้เติบโตขึ้นมาตามลำดับ ปัจจุบันมีสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,210 สหกรณ์, มีสมาชิกสหกรณ์ จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน และมีปริมาณธุรกิจกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยสหกรณ์ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างการจ้างงาน และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชน ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกร การสร้างความมั่นคงในภาคแรงงาน ซึ่งสามารถปรับวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น สหกรณ์ยังเป็นกลไกของภาครัฐในการกระตุ้นการออมของภาคประชาชนและเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญในการตอบสนองต่อการประกันรายได้เกษตรกรให้สามารถแข่งขันและพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากระบบสหกรณ์ได้รับการศึกษาและยอมรับมาอย่างต่อเนื่องยาวนานว่าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการปกครองของประเทศ
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะปรับปรุงและพัฒนาสหกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งการจัดการความรู้ของสหกรณ์ในการทำธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นสิ่งดีที่สนับสนุนให้สหกรณ์ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ และการพัฒนาขีดความสามารถของสหกรณ์มากยิ่งขึ้น” นายปีติพงศ์ กล่าว
แม้ว่าวิธีการสหกรณ์จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาความยากจนและปัญหาอื่นๆ แต่กลับพบว่าสหกรณ์ยังมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความเสี่ยงด้านการบริหารและการเงินมากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีการแข่งขันที่สูงและส่งผลกระทบทั่วถึงกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เมื่อเกิดวิกฤติ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการรับรู้และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถภายใต้ความเสี่ยงต่าง ๆ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ ผู้แทนสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศ จำนวนกว่า 230 คน โดยคาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการสัมมนาครั้งนี้ คือ1. สหกรณ์ได้รับทราบและให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงทางการเงิน แนวทางการพัฒนาขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ 2. สันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้รับความคิดเห็นจากขบวนการสหกรณ์ และนำเสนอข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์