กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๓ มิ.ย.๕๘) เวลา ๑๕.๓๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้อพยพในภาวะไม่ปกติ (โรฮีนจา) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) และเพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการดูแลให้แก่หน่วยงาน โดยมีรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ผู้แทนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผู้แทนกรมกิจการเด็กและเยาวชน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า สำหรับแนวทางและมาตรการในการควบคุมตัวหญิงและเด็กที่เป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มีดังนี้
๑)ให้หน่วยงานแยกสถานที่ควบคุมตัวไว้เฉพาะ ไม่ให้อยู่ปนกับกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
๒)ให้หน่วยงานพิจารณาศักยภาพของหน่วยงานก่อนการรับตัว โดยขอความร่วมมือจาก สตม. มาดูความเหมาะสมของสถานที่ควบคุมตัวก่อนส่งตัว
๓)การส่งตัวหญิงและเด็กมาควบคุมตัวในหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้ดำเนินการขออนุมัติผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และในกรณีที่รับไว้อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯแล้วเกิดปัญหาในระหว่างควบคุมตัว เช่น การก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือก่อเหตุความรุนแรงในหน่วยงาน ให้หน่วยงานนั้นๆ มีหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบและหากหน่วยงานไม่มีความพร้อมในการรับตัวไว้ควบคุมต่อให้แจ้ง สตม. รับตัวกลับไปดูแล
๔)การควบคุมตัวเพื่อป้องกันการหลบหนี ให้สถานคุ้มครอง ๘ แห่ง มีการจัดทำรั้วรอบบริเวณอาคารที่ควบคุม โดยออกแบบให้มีความโปร่งแข็งแรง และสะอาด
๕)ให้หน่วยงานจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับสถานการณ์กรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
๖)ให้สถานคุ้มครองและบ้านพักเด็กและครอบครัว พิจารณาเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ที่จำเป็นในการควบคุมตัวหญิงและเด็กที่เป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง มาที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางและมาตรการในการดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา มีดังนี้
๑)สถานที่รับตัวไว้ดูแลต้องไม่ใช่ที่ควบคุมตัว
๒)การดำเนินการตามขั้นตอนการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มีขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งผู้รับการคุ้มครองมีสิทธิที่จะได้รับการสถานะการพำนักอยู่ชั่วคราวในประเทศไทยและสามารถออกไปทำงานชั่วคราวนอกสถานคุ้มครองได้ และควรเพิ่มมาตรการเรื่องการจัดระเบียบภายใน มาตรฐานด้านอาคารสถานที่ อาหาร บุคลากรที่ดูแลให้เหมาะสม โดยให้พิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็นในการดำเนินการมาที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์
๓)การป้องกันการหลบหนี ให้มีมาตรการเชิงจิตวิทยาผ่านล่ามที่ไว้วางใจได้มีการจัดทำฐานข้อมูลผู้รับการคุ้มครองและจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
"การประชุมครั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีการจัดทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้อพยพในภาวะไม่ปกติ (โรฮีนจา) ของหน่วยงานที่ดูแลกลุ่มดังกล่าว โดยค่าปรับปรุงสถานที่ดูแลให้มีความเหมาะสมในการดูแลในระยะต่อไป ให้จัดขอสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และขอสนับสนุนงบกลางกรณีฉุกเฉิน โดยขอผ่านสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง สตม.จะมีการขอสนับสนุนงบกลางสำหรับการปรับปรุงห้องกักจำนวน ๒๑ แห่ง นอกจากนี้ จะมีการจัดทำคู่มือบริหารเหตุการณ์ แผนเผชิญเหตุการณ์ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และมีการซักซ้อม เพื่อมีแผนไว้รองรับหรือควบคุมในกรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย