กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง เจาะมุมมองแกนนำชุมชนต่อบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,077 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชน ทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 19-21 มิถุนายน 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 56.9 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 29.2 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 7.5 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 5.5 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการพนันในสังคมไทย ผลการสำรวจ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 69.0 ระบุคิดว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ในขณะที่ร้อยละ 31.0 ระบุไม่ใช่ ทั้งนี้ร้อยละ19.6 ระบุเคยเล่นการพนันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 80.4 ระบุไม่เคยเล่น
หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อประเด็นที่มีการนำเสนอในสังคมว่าเป็นข้อดีของการเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศไทยโดยเริ่มต้นคำถามจาก "การเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น" ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 54.2 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ45.8 ระบุไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็น "การเปิดบ่อนคาสิโนจะทำให้ประชาชนมีงานทำมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น" นั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 69.5 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุไม่เห็นด้วย นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงข้อดีที่ว่า "การเปิดบ่อนคาสิโนจะช่วยป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ" พบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 66.6 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 33.4 ระบุไม่เห็นด้วย และเมื่อสอบถามว่า "การเปิดบ่อนคาสิโนจะช่วยลดจำนวนบ่อนเถื่อน/การพนันที่ผิดกฎหมาย" ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 66.0 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 34.0 ระบุไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษายังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อดีของการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยระบุว่า การเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายมีข้อดี คือ จะสามารถควบคุมดูแลได้ง่ายขึ้น ลดการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มีเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พื้นที่ที่มีบ่อนคาสิโนจะได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น
หลังจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงประเด็นที่มีการระบุว่าเป็นข้อเสียของการเปิดบ่อนคาสิโนในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากประเด็นที่ว่า "บ่อนคาสิโนถูกกฎหมายจะทำให้ประชาชนหันมาเล่นการพนันมากขึ้น" ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 51.8 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 48.2 ระบุไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็น "บ่อนคาสิโนจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินจากธุรกิจผิดกฎหมาย" นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 54.2 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 45.8 ระบุไม่เห็นด้วย นอกจากนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 56.5 ระบุเห็นด้วยว่า "การเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายจะทำให้ปัญหาสังคม อาชญากรรม และยาเสพติดเพิ่มสูงขั้น" ในขณะที่ร้อยละ 43.5 ระบุไม่เห็นด้วยว่าจะเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงประเด็น "เป็นการมอมเมาเยาวชน" นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 52.5 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 47.5 ระบุไม่เห็นด้วย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาได้ระบุความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสียของการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยโดยระบุว่าการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายมีข้อเสีย คือ เหมือนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเล่นการพนัน เกิดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาผู้มีอิทธิพล ทำลายภาพลักษณ์อันดีของประเทศ ถ้าควบคุมไม่ได้จะทำให้เกิดผลกระทบที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน รวมถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ คณะผู้วิจัยได้ให้แกนนำชุมชนเปรียบเทียบถึงข้อดี-ข้อเสียของการเปิดบ่อนคาสิโนที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 28.1 ระบุคิดว่ามีข้อดีมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 60.9 ระบุคิดว่ามีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 11.0 ระบุไม่แน่ใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 33.3 คิดว่าพร้อมแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 59.9 ระบุคิดว่ายังไม่พร้อม ทั้งนี้ร้อยละ 6.8 ไม่ระบุความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้
และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปว่า "ยอมรับได้หรือไม่" หากจะมีการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายในพื้นที่จังหวัดของตนเอง" ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 37.6 ระบุยอมรับได้ โดยให้เหตุผลว่าถ้ามีหลักการและระเบียบที่ดีก็ยอมรับได้ /มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่สร้างรายได้ในจังหวัด /เอาภาษีมาปรับปรุงในท้องที่/เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ร้อยละ 62.4 ระบุยอมรับไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน/คิดว่าประชาชนยังไม่พร้อม/ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลรายละเอียด/ทำลายประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น/เกรงว่าประชาชนจะลุ่มหลงแต่การพนัน
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนว่า "หากมีการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายขึ้นจริงในประเทศไทย จะทำให้ความนิยมที่มีต่อรัฐบาลและ คสช.เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง" ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 9.4 ระบุจะทำให้มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 55.3 ระบุนิยมเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามแกนนำชุมชนร้อยละ 8.1 ระบุไม่นิยมเหมือนเดิม และร้อยละ 27.2 ระบุจะลดความนิยมลง
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 86.2 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.8 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.9 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 34.9 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 57.2 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 36.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.6 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 13.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 73.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 12.3 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ14.5 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 35.7 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 21.3 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 21.1 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 21.9 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ