กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--มาเธอร์ ครีเอชั่น
นิคมฯอมตะ เผยวิกฤติภัยแล้ง ไม่กระทบพื้นที่นิคมฯอมตะทั้ง 2 แห่ง เน้นแผนการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ขยายอ่างเก็บน้ำทำแก้มลิงรองรับน้ำตลอดทั้งปี
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันนี้ มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการบริหารจัดการของนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้จ.ระยอง โดยในส่วนของนิคมฯอมตะนคร ยังมีขีดความสามารถรองรับการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอ โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทั้งในพื้นที่นิคมฯ และนอกพื้นที่นิคมฯ อยู่ที่ 22-23 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ได้ไปจนถึงปี 2559 บนพื้นฐานที่ไม่มีฝนตกใหม่เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในนิคมฯอมตะนคร จะไม่เผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ ซึ่งนับเป็นนโยบายสำคัญของอมตะ ในการจัดหาน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 25-27 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยคำนวณจากการค่าเฉลี่ยการใช้น้ำปกติที่มีประมาณ7 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อวัน ซึ่งเป็นการคำนวณพื้นฐานจากการใช้น้ำสูงสุดของภาคอุตสาหกรรมและส่วนธุรกิจเชิงพาณิชย์ในนิคมฯอมตะนคร
ด้านนายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ไม่มีผลกับการบริหารจัดการน้ำในนิคมฯอมตะทั้ง 2 แห่ง จะสามารถบริหารจัดการใช้น้ำภายใน เพราะพื้นที่ในนิคมฯอมตะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ปริมาณ 900-1,000 มิลลิลิตรต่อปี นอกจากนี้พื้นที่ของนิคมฯอมตะทั้ง 2 แห่ง
มีคลองสาธารณะไหลผ่าน และเป็นเขตพื้นที่สุดท้ายก่อนไหลลงสู่ทะเล ทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับน้ำจากแหล่งธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่โดยรอบนิคมฯ
นอกจากนี้ อมตะฯ ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยประสานกับเอกชนภายนอกนิคมฯ ที่เป็นเจ้าของบ่อดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่อ่างเก็บน้ำสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมของนิคมฯ ได้ตลอดทั้งปี และมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงนำระบบรีเวอร์สออสโมซิส (REVERSE OSMOSIS : RO) มาใช้เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
"จากวิกฤติภัยแล้งเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นภัยแล้งที่หนักและกระทบต่อหลายพื้นที่ในวงกว้างทั่วประเทศ แต่นิคมฯอมตะทั้ง 2 แห่งไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมฯทำให้สามารถมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในภาคอุตสาหกรรม" นายชูชาติ กล่าว